3 ตัวแทนพรรคการเมืองอัดร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ชอบธรรม เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีอำนาจสูงสุดเพราะต้องฟังคำสั่งจากมาตรา 44 ส่อเป็นการเพิ่มอำนาจให้ คสช.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 2561 ในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ 2560”โดยมีนายราเมศ รัตนะเชวง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์, นาย โภคิน พลกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, และ นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ชี้ ม.44 เผด็จการ
นายโภคิน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยยื่นร่างรัฐธรรมนูญให้เปิดเสรีภาพ ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ออกความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าเราไม่แก้สิ่งหนึ่งที่สำคัญจะเกิดปัญหาไม่จบสิ้นเพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ถูกครอบไว้ด้วยอำนาจนิยม ศาลก็ถูกครอบงำด้วยความคิดเช่นนี้ จึงเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดในประเทศไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในประเทศ
เพราะเป็นคอนเซปต์ที่โกงมาตั้งแต่ต้น สำหรับอำนาจนิยม กฎหมายที่ออกมาหลังจากรัฐประหารไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดเลยที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับประชาชน เช่น ม.44 ที่ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีเต็มๆ ซึ่งสามารถสั่งการอะไรและใช้อำนาจอะไรก็ได้ นั่นหมายความว่ากฎหมายฉบับอื่นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งหลายคราเห็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจาก คสช.
ซึ่งการยึดอำนาจของ คสช. ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการโกงอำนาจประชาชนแล้ว ขณะที่ศาลก็เอื้อประโยชน์ต่างๆ ให้กับ คสช. มาโดยตลอดในกรณีนิรโทษกรรมตัวเอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหลักที่วิญญูชนไม่สามารถรับได้ โดยที่มีการอ้างว่าอำนาจเป็นของประชาชนมาตลอด แต่ก็ไม่เคยเป็นเช่นนั้น ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ทาง คสช. ได้วางรากฐานไว้อย่างสวยงาม แต่ตนเองก็ไม่สามารถกระทำได้
ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใส หรือคอร์รัปชัน นี่คือหัวใจหลักที่เราต้องแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประเทศไทยจึงจะมีการพัฒนาที่จริงจังและยั่งยืน โดยที่เนื้อหารัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไข ศาลต้องห้ามไปยุ่งกับการเมืองแต่ต้องยืนข้างประชาชน เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้สมดุลมากยิ่งขึ้น ขณะที่การนิรโทษกรรมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้วด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อประชาธิปไตย
ชี้ รธน. 60 ใช้การไม่ได้เพราะอยู่ใต้อำนาจ ม.44
ด้านนายราเมศ กล่าวว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญปี 60 เริ่มเห็นวิกฤตตั้งแต่ช่วงเริ่มร่างรัฐธรรมนูญที่มีการล้มลง โดยที่ประชาชนแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการติติงว่าต้องการแบบไหน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นการร่างเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ คสช. และเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน
ถ้าร่างแบบยึดหลักประชาชนรัฐธรรมนูญจะไม่ออกมาเป็นแบบนี้ ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ออกมามันบิดเบี้ยวไปหมด ซึ่งมีเสียงที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากมาย กระบวนการตัดสิทธิพี่น้องประชาชนออกไปหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทุจริต ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นสืบอำนาจอย่างชัดเจน ขณะที่รัฐธรรมนูญผ่านมติมาได้แบบสมใจผู้มีอำนาจ
โดยมีการห้อยท้ายมาตรา 44 มาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมาตรา 44 จะเป็นตัวที่ใหญ่กว่ากฎหมาย นั่นก็หมายความว่าประชาชนจะโดนยึดอำนาจในทุกๆวัน ซึ่งถ้าดูกันตามตรงแล้วรัฐธรรมนูญปี 60 จะเป็นกฎหมายที่ใช้ไม่ได้เลย เนื่องจากอยู่ใต้บังคับบัญชาของมาตรา 44
ซึ่งเป็นวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้มีความหลงเหลือในความเป็นประชาธิปไตยอยู่เลยแม้แต่น้อย ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นระบบที่ทำให้เห็นถึงความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ในประเทศอย่างแท้จริง
ร่างรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมต้องฟังเสียงประชาชนทุกคน
ส่วนนายปิยบุตร ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากประชาชน จำเป็นต้องอาศัยคนจำนวนมากเข้ามาร่วมมือและตัดสินใจ จึงจะเกิดความชอบธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฟังความเห็นจากคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความเที่ยงธรรมจะต้องมีเนื้อหาสำคัญในการแบ่งแยกความสมดุลของอำนาจ และสิทธิของประชาชน
แต่รัฐธรรมนูญปี 60 คือมรดกจากการรัฐประหารโดยไม่ได้สนใจความคิดเห็นของประชาชน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยถูกเหลียวแล ส่วนคนที่ออกไปเรียกร้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตย มิหนำซ้ำรัฐธรรมนูญยังพ่วงท้าย มาตรา 44 มาอีกต่างหาก
ยิ่งสร้างความไม่ชอบมาพากล ซึ่งหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 60 คือการปกป้องอำนาจของ คสช. ตั้งแต่อดีตปัจจุบันและในอนาคต ที่มีข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมในการทำรัฐประหาร ซึ่งต่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นรัฐบาลใหม่ก็ไม่สามารถแตะต้องระบอบรัฐประหารไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดและกลไกต่างๆ ที่ คสช. ได้วางไว้หมดแล้ว
รัฐธรรมนูญปี 60 จึงเป็นการคงอยู่ของระบอบยึดอำนาจ ซึ่งสิ่งแรกที่เราจะต้องรีบแก้ไขคือ มาตรา 279 ที่ระบุว่ากฎหมายทั้งฉบับให้ฟังประกาศของ คสช. จำเป็นต้องเอาออกไป และแก้ไขให้เกิดความชอบธรรมมากกว่านี้ ซึ่งประชาชนในประเทศจะไม่มีวันอยู่อย่างเป็นสุขได้อย่างแน่นอน ถ้าหากรัฐธรรมนูญในประเทศเป็นแบบปี 60 เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
ชี้รัฐธรรมนูญไทยมีอายุสั้น แสดงถึงวิกฤต
ขณะที่นายพรสันต์ แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามหลักการจะต้องมาจากการตัดสินใจทางการเมืองร่วมกัน และต้องมีการควบคุมจำกัดการใช้อำนาจรัฐ และต้องมีการควบคุมอำนาจที่ครอบคลุมอีกด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนคือหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญเพราะจะต้องได้รับการยินยอมจากประชาชนเสียก่อน
ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ ถ้าสามารถทำตามสิ่งทั้งหมดที่กล่าวมาได้รัฐธรรมนูญจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ และจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ในประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอายุเฉลี่ยฉบับละ 4 ปีเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
แต่รัฐธรรมนูญในปี 2560 ก็เกิดวิกฤตในตัวมันเองด้วยเช่นกันเพราะขาดความชอบธรรมในตัวเอง จึงทำให้ระบบการเมือง และระบบกฎหมาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับ จึงนำไปสู่ผลกระทบทางสังคมและเกิดความวุ่นวายในที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง
หากแต่ว่าเป็นคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ฝืนธรรมชาติของรัฐธรรมนูญเอง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างจากกฎหมายอื่นเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาบังคับใช้ แต่เป็นการบังคับใช้ด้วยตัวเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาจากความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นเป็นการร่างขึ้นโดยการกีดกันความเห็นจากคนส่วนใหญ่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: