ดีอี ชู 5 จีในพื้นที่อีอีซี เปิดให้พันธมิตร ใช้เป็นสนามทดสอบสร้างระบบสาธารณูปโภคด้านดิจิทัล รอรับทัพลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ดีอีปักหมุด 5จี บนพื้นที่อีอีซี ดึงพันธมิตรทุกภาคส่วน เริ่มศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5จี (5G Testbed) พร้อม MOU ร่วมมือทางวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา ล่าสุดผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกเครือข่าย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำของโลก รวมทั้งกลุ่มผู้มีความต้องการใช้เทคโนโลยี 5จี ลำดับต้นๆ ขานรับเข้าร่วมโครงการ ชี้ข้อได้เปรียบ ด้วยมีความพร้อมของระบบนิเวศน์รองรับ ทั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายรอใช้งาน และสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอสำหรับการลงทุนในอีอีซีโดยเฉพาะ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การเปิดศักราชการสื่อสารในยุค 5 จี ของประเทศไทย โดยมีการติดตั้งโครงข่าย 5จี ทั้งระบบในประเทศไทย พร้อมแสดงตัวอย่างการใช้งานจริง (Use Case) ในหลายด้าน เช่น การจำลองการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม, โดรนส่งของ, Cooperative Cloud Robot, อุปกรณ์ตรวจวัดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT Sensor) ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 5จี และเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของไทยมีโอกาสเข้าร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ที่จะพร้อมใช้งานในทางการค้าในอนาคตอันใกล้
มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมตอบรับเข้าร่วมครบทุกเครือข่ายหลักทั้ง AIS, DTAC, True รวมถึง บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) ได้แสดงความสนใจเข้ามาทดสอบการใช้งาน และขอติดตั้งอุปกรณ์ 5จี เพื่อทดสอบการใช้งานในพื้นที่ทดสอบแห่งนี้แล้วมากกว่า 10 ราย ครอบคลุมบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ได้แก่ หัวเว่ย ซึ่งเป็นรายแรกที่ได้นำเข้าอุปกรณ์ 5จี ทั้งระบบมาถึงประเทศไทยและติดตั้งพร้อมใช้งาน เพื่อโชว์ศักยภาพ อาทิ 360° AR/VR, Remote Driving, Multi-HD VDO และ Smart Bus ได้ในทันที และต่อยอดการพัฒนาบนระบบนิเวศน์ 5G
เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เข้าใจถึงศักยภาพและการปรับใช้ 5จี ในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมด้วยโนเกียและอีริคสัน ที่ได้ขออนุญาตนำอุปกรณ์เข้ามาใช้ในการทดสอบแล้ว กลุ่มที่มีความต้องการประยุกต์ใช้งาน 5จี ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดลสำหรับการใช้ 5จี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด เพราะจะมีความหน่วง (Latency) ที่ต่ำมาก และภาพจะคมชัดเพียงพอที่อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างไกลออกไปนับร้อยกิโลเมตร สามารถมองเห็นอาการผู้ป่วยจากภาพถ่าย/ฟิล์มเอ็กซเรย์ เพื่อวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่พร้อมทดสอบเทคโนโลยีการเชื่อมต่อยานพาหนะ (Connected Vehicle) ซึ่งค่ายรถยนต์บางรายมีเทคโนโลยีนี้จากบริษัทแม่อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของเทคโนโลยีรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ เอ็นอีซี และซูมิโตโม แสดงความจำนงขอเข้ามาใช้พื้นที่ในศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5จี ในโครงการความร่วมมือนี้ ขณะที่ บริษัท NTT Communications (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ NTT docomo Inc. ของประเทศญี่ปุ่น เสนอความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ EECd อีกทั้งจะมีการเตรียมการเรื่องอุปกรณ์และยินดีสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ด้วย รวมไปถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ระดับโลก ได้แก่ ซิสโก้, ไมโครซอฟท์, อินเทล และ Dassult ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 3 มิติ จากฝรั่งเศส เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ทำเลที่ตั้งของศรีราชา เป็นศูนย์กลางของอีอีซี คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้งาน 5จี จำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตั้งอุปกรณ์ และทดสอบการใช้งานที่ศูนย์ฯนี้ ก็จะยิ่งมีโอกาสได้ลูกค้าเป้าหมายแต่เนิ่นๆ เพราะอีอีซี เป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้ง ดีอี ยังมีแผนเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านสื่อและความบันเทิง (VR– Virtual Reality /AR – Augmented Reality / Animation), โลจิสติกส์และโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิต (Automation Factory) เข้ามาร่วมเพิ่มเติม โดยแนวคิดหลักในการทดสอบที่ Testbed แห่งนี้ มุ่งเน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ใช้ทรัพยากรลดลง แต่มีการใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมตามความต้องการอย่างแท้จริง (Demand Side Innovation)
ทั้งนี้การที่มีจำนวนสมาชิกที่จะไปร่วมทดสอบที่ศรีราชาเพิ่มขึ้น และหลายบริษัทมีการทดสอบของตัวเองแล้วโดยเฉพาะที่บริษัทแม่ จึงขอให้มีการนำประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดที่ Testbed ศรีราชาด้วย ซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยเรียนลัดได้ และคงจะเห็นการจับคู่มากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละบริษัทที่มาก็มีพันธมิตรร่วมธุรกิจด้วย ก็ส่งเสริมให้มาร่วมกันทดลองทั้งคู่ที่สำคัญ คือว่า ประเทศไทยจะได้รู้ว่าในจุดที่เคยทดสอบกันมาแล้ว มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร
เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งในการเดินหน้าประเทศไทยในรัฐบาลนี้ เพราะไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มอาเซียน ที่เริ่มเดินหน้าการทดสอบ 5จี ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการในอนาคตเข้ามาร่วมทั้งหมด ทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม/อินเทอร์เน็ต เจ้าของเทคโนโลยีผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าจะใช้ช่องสัญญาณความถี่ย่านใด เรามีคลื่นความถี่ซึ่ง กสทช. กำลังจัดสรรคลื่นสำหรับการทดสอบ เข้าใจว่าคลื่นแรกที่ได้มาน่าจะเป็นคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ซึ่งเป็นคลื่นสากลที่นิยมใช้กัน
สำหรับการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่องการทดสอบเทคโนโลยี 5จี ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1. เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการทดสอบเทคโนโลยี 5จี 2. สนับสนุนความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5จี และ 3. สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5จี (5G Testbed) ในพื้นที่อีอีซี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา และปี 2562 จะเป็นปีแห่งการทดสอบตลอดทั้งปี
บทบาทความร่วมมือของกระทรวงฯ ในครั้งนี้ จะเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนให้หน่วยงานของกระทรวง, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม, ผู้ผลิตอุปกรณ์และโครงข่าย และผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการทดสอบ ขณะที่ ทางเกษตรศาสตร์ สนับสนุนการอำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่วิทยาเขตศรีราชา ในการติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์และระบบ 5จี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: