นักวิชาการเปิดเผยว่าต้นเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนเพราะประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจของต้นเหตุการเกิดผลกระทบทางธรรมชาติ ชี้การปลูกจิตสำนึก และสร้างความรู้จะเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จัดการอบรม Library Care the bear ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ”สภาวะโลกร้อน ผลกระทบต่อประเทศไทย” โดยวงเสวนาประกอบด้วย ดร.นงรัตน์ อิสโร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปฏิบัติราชการประจำสำนักงาน พล.อ.ดาวษพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และ ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ดร.นงรัตน์ กล่าวว่า มีหลายคนที่แยกสภาพอากาศกับสภาพภูมิอากาศไม่ออก ถ้าเป็นสภาพอากาศคือสภาพ ณ ตอนนั้น ถ้าเป็นสภาพภูมิอากาศมันคือฤดูกาล เช่น ช่วงนี้ฝนจะตกปลูกข้าวได้ ซึ่งปัจจุบัน ฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะและก็กระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่น้อย
ขณะที่ภาวะเรือนกระจกเมื่อถูกพูดถึงหลายคนจะมีความคิดไปในแง่ลบแต่จริงๆก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเป็นสิ่งควบคุมอุณหภูมิ แต่ที่ทำให้เลวร้ายลงไปเพราะช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเราปล่อยก๊าซประเภทนี้เยอะเกินไปทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น
และฤดูกาลก็เปลี่ยนแปลงทำให้กระทบต่อวิถีดำเนินชีวิตที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น ทุกวันนี้จะมีการเกิดอุทกภัยขึ้นถี่และดูเหมือนจะแรงขึ้นด้วย สิ่งนั้นเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ทุกๆ 1 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกันซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมองข้ามไป
ประเทศไทยก็เช่นกันตั้งแต่ปี 2000-2013 มีค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเป็นประวัติการ ภาคเกษตรก็ปล่อยแก๊ซมีเทนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิก็จะทำให้แต่ละภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่งประเทศไทยมีความเสียหายคิดเป็นลำดับที่ 10 ของโลก จากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบต่อภัยธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงปารีส เพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยมีเงื่อนไขคือ
1.ต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกระยะยาวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
2.ทำแผนการรองรับปรับตัว เพื่อให้อยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
3.การตั้งกองทุนซึ่งจะเก็บเงินจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะๆ และนำไปทำโครงการเพื่อความอยู่รอดของโลกของการเพิ่มอุณหภูมิ
ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องภาวะโลกร้อนถูกพูดถึงแต่ก็ไม่มีใครตระหนักให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และไม่มีแผนในการเตรียมตัวรับมือ เช่นที่ประเทศฝรั่งเศสที่ครั้งหนึ่งเคยโดนคลื่นความร้อนโจมตีทำให้ประเทศร้อนเกินปกติทำให้ผู้มีเสียชีวิตกว่า 5 พันราย
เหตุผลก็คือคนเหล่านั้นไม่รู้วิธีในการเอาตัวรอดและอยู่กับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกินความปกติ ดังนั้นแล้วเรื่องปลูกฝังความรู้ และการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นเหตุผลปัจจัยที่ทุกคนทั่วโลกควรจะเรียนรู้ และเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างจริงจัง
เพราะเรื่องอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวของมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งกระบวนการที่ดีควรมีดังต่อไปนี้คือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การให้การศึกษา การฝึกอบรม การสร้างจิตสำนึก การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
ด้านดร.อารีย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พอห้องสมุดพูดถึงสิ่งแวดล้อมหลายคนจะงงว่าเกี่ยวอะไรกับห้องสมุด ซึ่งจริงๆแล้วห้องสมุดในมหาวิทยาลัยใช้พลังงานค่อนข้างจะเยอะเนื่องจากเปิดให้บริการแทบทุกวัน และมีการเปิดแอร์ เปิดไฟกระหน่ำทั้งวันทุกที่ ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยในการทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอยู่เหมือนกัน
การเกิดภัยธรรมชาติทุกวันนี้ถือว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี และเกิดกลายพันธ์ของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการกำเนิดของโรคระบาดสายพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นตามภาวะโลกร้อน เชื้อโรคมีความแข็งงแรงขึ้น ดังนั้นแล้วเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างจริงจัง
การเกิดภาวะน้ำท่วมในประเทศไทยในปี พ.ศ.2554 ทำให้ห้องสมุดเกิดการเรียนรู้และปรับตัวสู่ยุคใหม่และลดภาวะโลกร้อนในการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และลดการใช้ปริมาณกระดาษ ทั้งนี้ห้องสมุดยังได้มีการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประชาชนซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างมาก
ซึ่งนักวิจัยได้เข้ามาค้นข้อมูลในการจัดการสภาพแวดล้อม นอกจากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดหลายแห่งหันมาผลิต อี-คอนเทนท์ กันเองแล้วด้วย และให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต่อให้เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 ก็สามารถให้บริการได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการยกระดับความรู้ให้กับประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา และเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: