X

“ปริญญา” ชี้โอกาสเป็นนายกฯ ของ”บิ๊กตู่” ไม่ง่าย เพราะมีตัวแปรอีกเยอะ

“ปริญญา”ชี้การเลือกตั้งแบบ 3 อิน 1 ทำประชาชนเสียสิทธิในการตัดสินใจเลือกแบบแยกพรรค คาดโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเนื่องจากมีตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลอีกเยอะ ชูพรรคอนาคตใหม่มีโอกาสมากขึ้นจากกลุ่มคนไม่ชอบ คสช.และนายทักษิณ ชินวัตร

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การเลือกตั้งแบบ 3 อิน 1 กับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชนตามโครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562”โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชี้เลือกตั้งแบบ 3 อิน 1 ทำประชาชนเสียสิทธิเรื่องการตัดสินใจเลือก

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ม.ธรรมศาสตร์ร่วมกับ กกต. จัดการวิจัย เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งเพื่อนำมาปรับปรุงด้านต่างๆ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรค์ปันส่วนผสมมีทั้ง สส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ แต่ครั้งนี้การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะไม่มีอีกต่อไป จะมีแค่การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น ในการเลือกตั้งปี 54 สส. มี 500 คน แบ่งเขต 375 คน

บัญชีรายชื่อ 125 คน ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบนี้เรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ซึ่งการเลือกตั้งปี 62 พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้ ส.ส.น้อยลง เพราะจะมีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมาแบ่งคะแนน ซึ่งพรรคใหญ่จะได้คะแนนแบบแบ่งเขตน้อยกว่าบัญชีรายชื่อ

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างซับซ้อน หากประชาชนชอบผู้สมัครของพรรคหนึ่งแต่ชอบนโยบายอีกพรรคหนึ่งจะเกิดความยุ่งยากทันที ซึ่งจะทำให้ประชาชนตัดสินใจลำบาก เมื่อก่อนประชาชนสามารถเลือกแยกกันได้ แต่ที่แน่ๆ สิทธิของประชาชนได้สูญเสียไปแล้วที่จะเลือกแยกพรรค

ครั้งนี้เรามีผู้รับสมัคร ส.ส.มากขึ้น แต่ก็รู้ว่าส่วนใหญ่ที่ส่งไปจะไม่ชนะเพียงแต่ต้องการคะแนนมาคิดเก้าอี้แบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ครั้งนี้มีพรรคการเมือส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ 72 พรรค และมีผู้สมัคร 2,718 คน และแบบแบ่งเขตมีพรรคการเมือง 104 พรรค และมีผู้สมัคร 11,181 คน ซึ่งมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนำมาซึ่งความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้น เช่นบัตรเลือกตั้งก็ต้องยาวขึ้น ป้ายหาเสียงก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เชื่อไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส.ถึง 250 คน

คาดการณ์ผลจากระบบนี้ว่าไม่มีพรรคใดได้ ส.ส. ถึง 250 คน เพราะตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 มีครั้งเดียวเท่านั้นในปี 48 ที่พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนแบบแบ่งเขตถึง 51% และในคราวนี้พรรคใหญ่ก็แตกตัวไปมาก มิหนำซ้ำยังมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมาอีก จึงพูดได้ว่าไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส.เกินครึ่งแน่นอน ประกอบกับมีผู้เลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นกว่า 6 ล้านคน และผลวิจัยมีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคใหม่มากกว่าพรรคเก่า

เกิดการเมืองแบบ 3 ก๊กในการจัดตั้งรัฐบาล

เดิมมีแค่ 2 ขั้ว คือเพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้มีพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้น  ซึ่งรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการรวมกันของพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ให้ถึง 376 คน ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุดน่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกันของพรรคประชาธิปตย์ และพรรคพลังประชารัฐ

และนายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคการเมืองไม่เกิน 5-6 พรรค เนื่องจากในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียง ส.ส.ในการเลือกตั้งอย่างน้อย 5% ของคะแนนทั้งหมด ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมามีเพียงแค่ 3-4 พรรคเท่านั้นที่เคยทำคะแนนถึงในแบบแบ่งเขต

ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ประชาชนจะกล้าเลือกพรรครองๆมากขึ้น เพราะทุกคะแนนเสียงถูกนำไปคิดคำนวนทั้งหมดต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ทำให้คะแนนที่เลือกไปแต่ไม่ชนะอย่างไรก็ไม่เสียของ ซึ่งจุดนี้ก็อาจจะทำให้เกิดตัวแปรใหม่เกิดขึ้น

โอกาสของพลเอกประยุทธ์ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คือทางเลือกเดียวนั่นคือพลังประชารัฐต้องได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 เท่านั้นถึงจะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลด้วยได้ แต่ถ้าไม่ได้ที่ 1 แต่ไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีโอกาสน้อยที่จะถูกยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

นำกติกาปี 2517 มาใช้ อาจเกิดงูเห่าขึ้น

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้กฏของการเลือกตั้งปี 17 กลับมาใช้ใหม่ เนื่องจาก ที่ผ่านมาถ้า ส.ส.ในพรรคใดถูกขับออกจากพรรคก็จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที ซึ่งเป็นกฏที่พรรคใช้คุม ส.ส.ของตนเองให้กระทำตามสิ่งที่พรรคต้องการมาตลอด แต่สำหรับครั้งนี้ถ้ามี ส.ส.ออกจากพรรคก็จะยังคงมีสิทธิเป็น ส.ส.อยู่เพียงแต่ต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน ก็อาจจะเกิดเสียงแตกขึ้นในพรรคได้ก็เช่นกัน ถือเป็นจุดที่น่าจับตามองอีกจุดในการเลือกตั้งครั้งนี้

ปัญหาเรื่องคุณสมบัติว่าที่นายกฯของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องห้ามเป็นผู้สมัคร แต่เจ้าหน้าที่การเมืองได้รับการยกเว้น ซึ่งตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของพลเอกประยุทธ์ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐประเภทใด การแต่งตั้งมาจากไหน รับเงินเดือนจากไหน และมีอำนาจอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องไปวิเคราะห์กันต่อไป ซึ่งโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายฝ่ายมอง อย่างไรก็ตามการคัดเลือก สว. 250 คน คสช.ไม่ใช่ผู้เลือกมา และคาดว่าการให้ สว. มาโหวตเลือกนายฯ หลังเลือกตั้ง อาจถูกกดดันให้โหวตแบบไม่ออกเสียง

จับตาดูการจับขั้วตั้งรัฐบาล

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ก็อาจจะยังเป็นเรื่องยากที่จะได้เป็นรัฐบาล เพราะถ้าประชาธิปัตย์มาเป็นที่ 2 พลังประชารัฐมาเป็นที่ 3 ก็อาจเกิดการรวมกันของอันดับ 2 และ 3 โดยพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้อีกหลายแบบมากเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยพรรคเดียวเท่านั้น

พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่โดดเด่น

เนื่องจากว่ามีกระแสของ 2 ขั้วที่มีการโจมตีกันระหว่ากลุ่มที่ไม่ชอบ คสช. และนายทักษิณ ชิวัตร ดังนั้นแล้วคนกลุ่มนี้อาจเทคะแนนไปที่พรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจจะได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากที่คนกลุ่มนี้ไม่ลงไปที่ประชาธิปัตย์เนื่องจากยังคงมีความคลุมเครือ และเป็นฝ่ายคู่ขัดแย้งันนำมาสู่การรัฐประหารในปี 57

เชื่อการซื้อเสียงในปีนี้ไม่มีผล

จากผลวิจัยพฤติกรรมของประชาชนพบว่ามีการเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน หากจะใช้เงินซื้อสิทธิประชาชนในยุคนี้จะรับ แต่จะไม่เลือกเหมือนเมื่อก่อน โดยจะเลือกตามที่ใจตนเองคิด ดังนั้นแล้วส่วนตัวจึงมั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้การนำเงินไปแจกเพื่อซื้อเสียงจะไม่มีผลแบบสมัยก่อนแล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน