X

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จวก ม.44 อุ้มค่ายมือถือ ช่วยผู้ประกอบการผูกขาดตลาด

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นตั้งวงเสวนาจวก ม.44 อุ้มค่ายมือถือ เป็นการช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ผูกขาดตลาด และยังได้คลื่น 5G ราคาถูกแบบไม่ต้องแข่งประมูล นอกจากนี้ทำให้ประเทศเสียโอกาสการชำระหนี้

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับทีดีอาร์ไอจัดงานเสวนาเรื่อง “ม.44 อุ้มมือถือ ใครได้ใครเสีย และใครเสียท่า” โดยในวงเสวนาประกอบด้วย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์ผู้บริโภค และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ตนอยากจะให้ประชาชนได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับ 7 เรื่องในการออกมาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือ โดยการยืดหนี้ให้กับค่ายมือถือครั้งนี้ คือการยกผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งค่ายมือถือทั้ง 3 ล้วนค้างชำระหนี้ในการประมูลคลื่นความถี่อยู่ในอัตราหลักหมื่นล้านบาททั้งนั้น

1.การออก ม.44 ที่ผ่านมาเป็นการยืดการชำระหนี้แบบไม่คิดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ ทำให้เงินที่รัฐควรจะได้กลับไม่ได้ และยังเป็นการเสียโอกาสทางการเงินของรัฐอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลออกมาตรการยืดหนี้ให้ ก็ควรจะต้องคิดดอกเบี้ยด้วย ซึ่ง กสทช.พยายามอธิบายว่าการยืดหนี้ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงแต่ยังได้เท่าเดิมโดยที่ไม่ได้เอาดอกเบี้ยมาคิดเลย

ซึ่งความจริงแล้วควรต้องคิดดอกเบี้ยเพราะเอกชนจะได้โอกาสจากการยืดหนี้แบบเต็ม ๆ และจากการคำนวณดอกเบี้ยแล้วรัฐจะไม่ได้เงินจากผู้ประกอบการที่ควรจะได้ถึง19,747 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการประเมิณที่ใกล้เคียงกับตัวเลขจากนักวิเคราะห์ของกสิกรไทย

2.สิ่งที่รัฐบาลไปบังคับให้เอกชนทำ 5G แต่จริง ๆ แล้วเป็นการให้อภิสิทธิ์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย เนื่องจากมีการให้สิทธิ์คลื่น 900 MHz โดยไม่ต้องไปแข่งประมูลกับใครเลย ซึ่งเป็นการผูกขาดและตลาดก็จะมีผู้ประกอบการเพียง 3 รายเดิมเท่านั้น ถือเป็นการคุ้มค่าของผู้ประกอบการอย่างมาก

ขณะที่ กสทช.บอกว่ารัฐจะได้เงินจากผู้ประกอบการ 25,000 ล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเอาเงินในอนาคตมาคิดจะเหลือมูลค่าเพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น สิ่งที่เอกชนได้จากกรณีนี้คือเหมือนซื้อคลื่น 5G ในราคาประมาณ 8,000 ล้านบาทเท่านั้น

3.เชื่อจริงหรอว่าผู้ประกอบการจะชำระราคาคลื่น 25,000 ล้านบาทจริง ๆ เผลอ ๆ อาจมีการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิม 10 ปีเป็น 15-20 ปี ก็เป็นได้ เนื่องจาก คสช. ให้อำนาจกับ เลขาธิการกสทช. มากเกินไป

4.ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออภิมหาเศรษฐีของประเทศไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีผู้ถือหุ้นใหญ่ในประเทศสิงคโปร์, นอร์เวย์ และจีน จึงเป็นคำถามว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปอุ้มมหาเศรษฐีไทย และนักลงทุนต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด

5.บริการ 5G เป็นบริการแห่งอนาคตและไม่ต้องรีบทำเนื่องจากเอไอเอสเคยให้ข้อมูลในเดือน ก.พ.62 ว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นในแง่ธุรกิจและไม่มีผู้ใช้บริการ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่าที่เลขาธิการ กสทช. บอกว่าถ้านำ 5G มาใช้จะสร้างมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาทให้ประเทศ เป็นเพียงความเพ้อฝัน ซึ่งอุปกรณ์ในการดำเนินการในเรื่อง 5G ก็ยังไม่มีการพัฒนามารองรับ ประเทศไทยจึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งทำ 5G ในปัจจุบัน

6.การใช้คำสั่ง ม.44 เป็นการขาดความรับผิดชอบต่ออำนาจ และยังอาศัยวันที่ 11 เม.ย. ในการออกคำสั่งซึ่งเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวทำให้ไม่ตกเป็นข่าวมากนัก นอกจากนี้ คสช. ยังให้อำนาจกับเลขาธิการ กสทช.มากเกินไป ดุลพินิจที่สำคัญที่เลขาธิการ กสทช. กำหนดได้คือ จะตีมูลค่าความถี่อย่างไร ระยะเวลาในการชำระจะยืดได้เท่าไรก็ได้ โดยไม่มีข้อกำหนดให้แม้กระทั่งรับฟังความเห็นสาธารณะเลยแม้แต่นิด

7.ผู้ที่เสียหายครั้งนี้คือประเทศและประชาชน เนื่องจากประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ในฐานะผู้บริโภคคือเสียโอกาสในการได้รับบริการจากผู้ประกอบการรายใหม่ ในส่วนประเทศ ม.44 ทำให้การกำกับดูแลการโทรคมนาคมในประเทศย้อนกลับไปอยู่ในยุคสัมปทานซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการคาดการณ์ และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างเจ้าสัวผู้มีอิทธิพลต่อไป

ทั้งนี้ คสช. ควรออก ม.44 แก้ไขการออก ม.44 อุ้มค่ายมือถือที่ได้ทำไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสช.มีอำนาจและสามารถทำได้หากต้องการจะทำ และหากต้องการจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศเอาไว้

ด้านนางสาวสารี กล่าวต่อว่า คำสั่ง คสช.ที่ใช้ ม.44 ถือเป็นการลดสิทธิประชาชนเพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการฝ่ายเดียว และไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเลย ต้นทุนผู้ประกอบการจะถูกโยกมาที่ผู้บริโภคด้วย และคงไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าตลาดเดิม

ซึ่งผู้ประกอบการรายเก่าจะได้ขยายเวลายืดหนี้ไปอีก 10 ปี และยังได้คลื่น 5G ในราคาถูกและไม่ต้องประมูลแข่งขันด้วย เมื่อผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ได้คลื่น 5G ไปก็ถือเป็นการปิดตลาดไปโดยปริยาย ซึ่งมีการเปิดเผยจากกสทช. ก่อนหน้านี้บอกว่ารัฐจะได้เงินเพิ่มจากกรณีนี้ 40% ซึ่งไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอะไรแต่อย่างใด ขณะที่ 5G ยังไม่มีโครงข่ายและไม่มีอะไรรองรับการใช้ 5G ก็เสมือนการหลอกผู้บริโภค ซึ่งความเหมาะสมในการทำ 5G ควรทำหลังปี 2020 และการกระทำครั้งนี้ของ คสช. ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงอย่างเดียว

ส่วนนางสาวบุญยืน เผยว่า ม.44 ครั้งนี้เป็นเรื่องน่าละอายของคนที่มีอำนาจ เนื่องจากเรามีรัฐธรรมนูญ แต่การออก ม.44 ช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ก็เพื่อไม่ให้มีคนค้าน ซึ่งการยืดระยะเวลาใช้หนี้ออกไปโดยไม่มีการให้ชำระดอกเบี้ยถือเป็นอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างมาก

และการออก ม.44 เท่ากับว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเนื่องจากว่า ม.44 สามารถออกเมื่อไรเรื่องใดก็ได้ และที่ผ่านมา คสช. ก็ออกกฏหมายไม่เห็นหัวประชาชนเลยสักครั้ง ซึ่งคลื่นที่ประมูลกันเป็นของประเทศชาติไม่ใช่ของรัฐบาล เพราะฉะนั้นควรจะจัดสรรอย่างเป็นธรรม และไม่ใช่เรื่องที่นายกฯ จะต้องไปอุ้มเศรษฐี ซึ่งอาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังจากเรื่องนี้ก็อาจเป็นไปได้

ด้านดร.มานะ หล่นความคิดเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า กรณีออก ม.44 อุ้มผู้ประกอบการมือถือเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวให้แก่ส่วนรวม ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของความถี่คือประชาชนทั้งประเทศ ที่ควรจะต้องได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่แบบนี้เป็นที่รู้ดีว่าจะต้องมีการศึกษาแผนธุรกิจเป็นอย่างดี

ดังนั้นเรื่องที่ตนเองให้ความสนใจคือเรื่อง ม.44 ที่ออกมา มีธรรมาภิบาลหรือไม่ และการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินนั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องและซื่อสัตย์หรือไม่ ซึ่งคำสั่ง คสช.เขียนว่าต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สุจริตและไม่มีความสามารถในการชำระเงิน แต่เป็นเรื่องที่หน้าถามย้อนกลับว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 รายนั้น เป็นผู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้จริงหรือไม่

เนื่องจากหากไปดูผลประกอบการของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ในช่วง 4 ปีหลัง มีผลประกอบการหลักหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทมีฐานะทางการเงินดีอยู่ตลอด หากพิจารณาจากรายได้และผลประกอบการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นจะบอกว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเป็นผู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างไร

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องจับตาดูความซื่อสัตย์ของรัฐบาล และภาคเอกชนทั้ง 3 ราย ว่าจะมีความซื่อสัตย์หรือไม่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน