ต้องยอมรับว่าการพัฒนาพลังงานในยุคที่กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก หลายประเทศให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าที่ตื่นตัวในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ถ้าพูดถึงพลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงเพียงพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ หรือลมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายวิธีที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้เป็นพลังงานสะอาด หนึ่งในนั้นก็คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดหรือเทคโนโลยีไอน้ำแบบแรงดันเหนือวิกฤติ Ultra-super critical (USC) ซึ่งเป็นไปตามหลักของ HELE – High Efficiency, Low Emission ที่ระบบของหม้อต้มน้ำ (Boiler) จะสามารถผลิตไอน้ำได้ดีขึ้นด้วยอุณหภูมิและแรงดันที่สูงขึ้น รวมถึงมีการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้การปล่อยมลสารลดลงตามไปด้วย USC นับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ ทั่วโลกได้เริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน
สำหรับอุปกรณ์หลักที่ทำให้เทคโนโลยี USC ผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) อุปกรณ์ดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) และ เครื่องกำจัดออกไซด์ของไนโตรเจน (Selective Catalytic Reduction: SCR) ด้วย 3 อุปกรณ์หลักดังกล่าวจึงทำให้มั่นใจได้ว่าในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะมีปริมาณการปล่อยมลสารต่างๆ จะลดลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก็จะลดลงตามไปด้วย นั่นหมายถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลงเช่นกัน
โรงไฟฟ้าเทคโนโลยี USC จึงถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่ผลิตไฟฟ้า แต่ยังส่งพลังงานสะอาดสนองตอบการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: