เสือดำ นำมาสู่การอนุรักษ์ นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระดมสมองถกปัญหา ภัยคุกคาม- ทำลายระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และสัตว์ทะเล สำนักนายกฯ เตรียมร่างแผนปฎิรูป 5 ปี ร่วมตรวจสอบผืนป่าไม่ให้แหว่งหาย ชี้ประเด็น คอร์รัปชั่น ทำให้การอนุรักษ์ล้มเหลว อย่าให้อำนาจอยู่เหนือสังคม
จากกรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย และพวก เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติฯ และได้ล่า เสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ได้นำเรื่องดังกล่าวมาถกกันในประเด็น “เสือดำ และเรื่องที่ใหญ่กว่า เสือดำ” ในกิจกรรมรณรงค์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม โดยมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้าร่วมการเสวนา
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวนิชย์ รองประธาน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดประเด็น การอนุรักษ์ ชี้ให้เห็นปัญหาการอนุรักษ์ในประเทศไทย ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และห่างไกลจากธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าต้องถูกล่า เพื่อฆ่าเอาหัวมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งฝาบ้าน เช่น หัวกระทิง, นกเงือก,กวางผา ,หมีควาย ,ช้าง ฯลฯ หรือแม้แต่การบริโภคที่มีค่านิยมไปในทางที่ผิด เช่น การกินจู๋เสือ ซึ่งต่างชาติมองว่า คนที่มีค่านิยมแบบนี้เป็นโรคประเภทหนึ่ง
สัตว์ป่าทุกตัวต่างมีหน้าที่ของตัวเองในระบบนิเวศน์ เช่น ค้างคาว ช่วยผสมเกสรดอกไม้ และพืชพรรณ , กวาง กินพืชที่เป็นวัชพืชเป็นอาหาร ทำให้ระบบนิเวศน์เกิดความสมดุล โดยมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัวได้ทำลายระบบนิเวศน์จนเกิดการล่มสลาย
นายเพชร มโนปวีต นักวิทยาศาสตร์ด้นการอนุรักษ์ ประจำองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ICUN) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล กล่าวว่า ขอบเขตการอนุรักษ์สัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์บก หรือสัตว์น้ำ ไม่ต่างกัน อยู่ที่ความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็น “ภัยคุกคาม” กับสัตว์เหล่านี้ แต่ทว่า “การล่า” ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์นั้น ถือเป็นภัยคุกคามอันดับแรก
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤตการล่าสัตว์ สัตว์จำนวนมาก 20,000-30,000 ตัว/ปี ถูกฆ่าตาย เพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์ โดยเฉพาะคนจีนที่ต้องการซากของสัตว์เหล่านี้ไปทำยา หรือแม้แต่ พม่า ก็มีการล่าช้าง เพื่อนำหนังมาป่น เพื่อทำยาแก้ปวดท้อง ขายในราคากิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งความเชื่อของคนเหล่านี้ ได้กลายเป็นภัยคุกคามกับสัตว์ป่า
นอกจากนี้ มนุษย์ยังเป็นผู้สร้างขยะพลาสติก ทิ้งลงแม่น้ำออกสู่ทะเล ทำให้สัตว์ทะเล เช่น เต่า โลมา ฉลามวาฬ เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทย ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้
จากผลงานวิจัย พบว่า มีขยะพลาสติกหลุดออกไปในทะเล ปีละประมาณ 8 ล้านตัน การรีไซเคิลพลาสติกที่ผ่านมาเกิดประสิทธิภาพน้อยมาก จากจำนวนที่ผลิตทั้งหมด มีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีก ทำให้ประเทศไทย ติดอับดับ 1 ใน 5 ประเทศผู้ผลิตขยะพลาสติกระดับโลก ซึ่งทางออกมีหนทางเดียว คือ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ลดใช้ถุงพลาสติก หลอดดูดน้ำ หันมาใช้กระเป๋าผ้า เพื่อช่วยให้โลกดีขึ้นในอีก 30-50 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นพวกเราทุกคนคงตายไปแล้ว แต่โลกใบนี้จะยังคงอยู่
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ป่าไม้ได้ถูกบุกรุก และทำลาย อย่างผิดกฎหมาย ถึงแม้หน่วยงานราชการจะประกาศปิดป่าสัมปทานไปแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน โดยการเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เกิดขึ้นจาก จิตสำนึก ,การบังคับใช้กฎหมาย, การเมือง,สังคม
ปัจจุบัน สำนักนายกฯ อยู่ระหว่างทำแผนปฎิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 5 ปี ให้หน่วยงานผู้ดูแลป่า 7-8 กระทรวง ลงนามร่วมกันรักษาป่าไม่ให้สูญหาย ซึ่งต่อไปหากพบว่า ป่าสูญหายจะต้องมรการชี้แจ้งให้ทราบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับกรณี “ป่าแหว่ง” ที่อาจโดนตั้ง กก.สอบ ข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157
สำหรับเป้าหมายหลักในปี 2565 คือ เพิ่มโทษผู้ที่ล่าสัตว์ ลดความขัดแย้งการใช้พื้นที่ ระหว่างคนกับสัตว์ป่า ทั้งนี้จะเป็นการขยายผลจัดการน้ำระดับชุมชน ,อนุรักษ์ดินและน้ำ ,เกิดความมั่นคงทางทะเลและชายฝั่ง เพิ่มจิตสำนึกในการแยกขยะ โดยนำโครงการ “ตาวิเศษ” กลับมารณรงค์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นความล้มเหลวของการอนุรักษ์ว่า เกี่ยวเนื่องกับการคอร์รัปชั่นโกงกิน โดยระบุว่า ปัญหาการล่าสัตว์ บุกรุกป่า หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ยังถูกล่า เช่น กรณีการล่าเสือดำ เกิดขึ้นได้เพราะ “นายสั่งมา” ซึ่งระบบราชการไทยให้ความสำคัญมากกว่า กฎระเบียบ
ที่ผ่านมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุและมีผลงานดี จะถูกจ้างมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน 2-3 ปี เหมือนกับที่ อิตาเลียนไทย จ้าง นายนภดล พฤกษะวัน อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ ให้มาเป็นที่ปรึกษา ขณะที่ พนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ ถูกผกก. สั่งลงโทษภาคฑัณฑ์ เนื่องจากรับแจ้งความและดำเนินคดี นายเปรมชัย ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ แต่ภายหลังไม่เข้าข่ายนิยามตามกฎหมายนี้ จึงต้องถอนคำร้อง เช่นเดียวกับ หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์ ที่เกือบโดนข้อหาละเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ กับ นายเปรมชัย และพวก เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึง “อำนาจ” ของบุคคลในสังคมไทย
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 68.88% ไม่เชื่อมั่น กับการบังคับใช้กฎหมายในคดีของ นายเปรมชัย เนื่องจากมองว่า คนมีอำนาจ คนรวย มีเส้นสาย สามารถเอารัดเอาเปรียบสังคมได้ ทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ ทำให้ต่อไปวันข้างหน้าจะเกิด วิกฤติอภิสิทธิ์ชน เพราะคนในสังคมเกิดความคิดว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไร ,สามารถเคลียร์ได้ , พรรคพวกกัน อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมต่อไปในภายหน้า จึงต้องเร่งแก้ไขระบบอุปถัมป์ ให้หมดไปจากสังคมไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: