X
หอพัก

สคบ. แจงสูตรเก็บค่าน้ำ-ไฟ ให้เช็กสัญญาก่อนเช่า เสียเปรียบยกเลิกทำใหม่ได้

ผู้บริโภค ฟังทางนี้! สคบ.แจงสูตรคำนวณเก็บค่าน้ำ-ไฟ ตามจริงให้หายสงสัย ระบุให้ตรวจสอบสัญญาเช่า อพาร์ตเม้นต์ – หอพัก ให้ดีก่อนว่า มีข้อผูกมัด ข้อปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะใบแจ้งตรวจสภาพห้อง ป้องกันการโต้เถียงตอนยกเลิกสัญญา ส่วนผู้ที่ทำสัญญาก่อน 1 พ.ค. สามารถยกเลิกและทำสัญญาใหม่ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขตามประกาศฉบับนี้ 

นายกิตติ อึ้งมณีภรณ์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ธุรกิจการให้เช่าอาคาร เพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมด้วยสัญญาในปี 2561 มีเจตนารมย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างสมดุลให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจ

โดยประกาศตรงนี้มีสาระสำคัญหลัก คือ ในตัวสัญญา เรากำหนดว่า ต้องมีรายละเอียดในเรื่องของการให้ใครเช่า เช่าอย่างไร เช่าอะไรบ้าง ราคาค่าเช่าเท่าไร แต่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญเป็นไฮไลท์ของประกาศตรงนี้ คือ ในเรื่องของ อัตราค่าบริการ มีประเด็นร้องเรียน คือ น้ำ-ไฟ ที่มีการคิดในอัตราที่สูงเกินควร ปัจจุบันเราจะประกาศตรงนี้ว่า ห้ามผู้ประกอบกิจมีการเรียกเก็บอัตรา ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า เกินกว่าอัตราผู้ให้บริการ

อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นในเรื่องเก็บเงินล่วงหน้าของผู้เช่า ซึ่งเดิมมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจำนวนสูงมาก แต่ปัจจุบันเรากำหนดให้มีการเรียกเก็บเพียง 1 เดือน คือ ในเรื่องของเงินค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน แล้วก็เงินประกันของเสียหายไม่เกิน 1 เดือน ตามอัตราค่าเช่าที่เป็นรายเดือน ประกอบกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการผลักภาระความรับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับห้องหรือผลิตภัณฑ์ เช่น ในเรื่องของการที่มีการเรียกเก็บค่าทาสีห้อง ค่าล้างแอร์พวกนี้ จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายพวกนี้ควรเป็นของผู้ให้เช่า เนื่องจากผู้ให้เช่ามีการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ จากผู้เช่าไปแล้ว

ข้อสังสัยที่มีการตั้งคำถามมากเรื่องการคิดคำนวนอัตราค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จะทำอย่างไร เนื่องจากประกาศฉบับนี้ กำหนดว่า ห้ามคิดเกินกว่าที่การประปาและไฟฟ้าเรียกเก็บ ยกตัวอย่างเช่น ใบเสร็จแจ้งหนี้มีการแจ้งว่า มีการคิดค่าบริการจากการไฟฟ้าจำนวน 1,000 บาท ซึ่งจำนวนนี้จะรวมถึงค่าบริการรายเดือน ค่าเอฟที ค่ากระแสไฟฟ้าที่มีการใช้จริง ให้ผู้ประกอบการเอาจำนวนหน่วย ที่มีการระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ หารด้วยจำนวนยอดหนี้ที่เป็นมวลรวม

สมมุติว่า มีการใช้ไฟไป 100 หน่วย ก็ให้เอาจำนวนที่มีการเรียกเก็บ 1,000 หารด้วยหน่วยที่มีการใช้ (1,000 หาร 100) =10 จะตกอยู่ที่หน่วยละ 10 บาท

ดังนี้แล้ว ผู้ประกอบการ จึงสามารถนำไปเรียกเก็บกับทางผู้เช่าได้ โดยเอา 10 บาท ไปคูณกับจำนวนหน่วยที่ผู้เช่าใช้จริงในแต่ละห้อง นั่นคือ การคิดอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามประกาศฉบับนี้ 

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องสัญญาฉบับนี้ ได้มีการศึกษา รวบรวม และรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งกำกับดูแลในเรื่องของอัตราค่าบริการไฟฟ้า รวมถึง กรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมาเป็นจำนวนมาก จึงหาทางออกและแก้ไขปัญหา ประกอบกับ ได้ทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบกิจการในกรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณเดือน ธ.ค.60 และได้รวบรวมประมวลผลความคิดเห็นต่างๆ เข้ามา ออกเป็นประกาศฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และรอบครอบ

ที่ผ่านมา การใช้บริการเช่าที่พักอาศัย มักเกิดปัญหาระหว่าง ผู้เช่า กับ ผู้ให้เช่า และเป็นปัญหามากๆ ในขั้นตอน การยกเลิกสัญญา ซึ่งสิ่งที่ทาง สคบ. อยากแจ้งเตือน หรือให้เป็นข้อพึงระวัง

สำหรับผู้บริโภคก็คือ ในเรื่องก่อนที่จะเข้าทำสัญญา อยากให้ผู้บริโภคศึกษาข้อสัญญาให้ครบถ้วนว่า มีข้อผูกมัดอะไร ข้อปฏิบัติอย่างไร ซึ่งกรณีดังกล่าว จะมีผลผูกพันกับผู้เช่าในการเข้าใช้บริการ จึงต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อนว่า มีการทำบันทึก หรือการแจ้งในเรื่องของการตรวจสภาพห้อง มีหลักฐานในเรื่องของการเก็บภาพถ่าย อุปกรณ์สภาพห้องไว้ เพื่อเป็นการป้องกันการโต้เถียงกันในตอนที่มีการเลิกสัญญา

โดยประกาศนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นการกำหนดในเรื่องของลักษณะสัญญามาตรฐานว่า ควรที่จะดำเนินการอย่างไร มีข้อกำหนดอย่างไรว่า สัญญาที่ท่านจะทำกับผู้บริโภคนั้นจะต้องมีข้อความใดบ้าง ไม่มีข้อความใดบ้าง หรือเงื่อนไขที่เราห้ามมี กรณีที่ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการตามที่ประกาศกำหนดไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนข้อสงสัย สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ที่ได้ทำสัญญาเช่าบริการไปก่อนหน้านี้ จะมีผลบังคับตามประกาศนี้หรือไม่ เนื่องจากประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค. นี้ ขอเรียนว่า สัญญาใดที่มีการจัดทำขึ้นมาก่อนหน้าที่ประกาศฉบับนี้จะบังคับใช้ ก็ให้บังคับใช้ไปจนกว่าสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลง หรือหาก ผู้บริโภคคนใดมีความประสงค์อยากให้มีผลตามประกาศฉบับนี้ เมื่อถึงวันที่ 1 พ.ค. 61 ก็อาจใช้สิทธิ์ยกเลิกสัญญาฉบับเก่า และขอทำสัญญาฉบับใหม่กับผู้ประกอบกิจการก็ได้ ซึ่งสัญญาฉบับไหมต้องเป็นไปตามประกาศฉบับนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน