โฆษณาเกินจริง – อย. และ กสทช. ประชุมหารือเรื่องการกำหนดมาตรการการโฆษณาและการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์อาหารและยา โดยได้ตั้งทีมมอนิเตอร์สื่อโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริง ขู่หากตรวจพบสั่งถอดทันที
วันนี้ (3 พ.ค.61) เวลา 11:45 น. ที่ห้องประชุม 1 สำนักงาน กสทช. พล.ท. ดร. พีรพงษ์ มานะกิจ และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข , นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวภายหลังการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการกำหนดมาตรการการโฆษณาและการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์อาหารและยา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการทำงานตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่มีเนื้อหาจูงใจหรือหลอกลวงผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าดังกล่าว จะต้องนำเนื้อหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือโฆษณาที่อธิบายสรรพคุณเกินจริง ทางสำนักงาน กสทช. จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพื่อให้ อย. ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลการตรวจสอบมายัง กสทช. ภายใน 45-60 วัน จึงจะสามารถยุติการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมายได้ โดยหลังจากนี้ กสทช. และ อย. จะดำเนินการเร่งรัดยุติการออกอากาศของโฆษณาที่ผิดกฎหมายและโฆษณาเกินจริงด้วยการลดขั้นตอน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
หลังจากนี้ กสทช. และ อย. จะทำงานร่วมกัน โดยทาง อย. จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัรฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. และไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ซึ่งหากตรวจพบว่ามีโฆษณาใดที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทาง อย. จะทำหนังสือแจ้ง เพื่อให้เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จากนั้นจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และ กสทช. ตามลำดับ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตามประกาศฯ โดยปรับวันละ 100,000 บาท และปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญในการตรวจสอบโฆษณาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาจากต้นทาง ไม่ให้มีโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือโฆษณาเกินจริงออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กสทช. และ อย. ในครั้งนี้ จะเป็นผลดีในการร่วมกันกลั่นกรองเนื้อหาโฆษณาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการรับข่าวสารโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายและโฆษณาเกินจริง เนื่องจากการโฆษณาดังกล่าวที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบอยู่นั้น เป็นการโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันของ อย. และ กสทช. ในครั้งนี้ เพื่อให้การกำกับเนื้อหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ทาง อย. ได้เห็นถึงความสำคัญในการปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานจากเดิม ซึ่งมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้วระหว่าง กสทช. , และกระทรวงสาธารณสุข (อย. และ สสจ.) โดยกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่นี้ จะมีการร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการออกอากาศของโฆษณา เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และลดขั้นตอนในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น จึงขอให้ทางผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ให้ดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาให้ละเอียด รวมถึงต้องนำเนื้อหาการออกอากาศของโฆษณาดังกล่าวมาขออนุญาตตามกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และ สสจ. ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้มีการเปิดช่องทางการตรวจสอบเลข อย. ผ่านทางเว็บไซต์ fds.moph.go.th หรือ Oyyar.com , สายด่วน อย. 1556 , LINE official : FDAthai และแอพลิเคชั่น Oyyor Smart Application (ดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ ios และแอนดรอยด์) นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสกับ อย. โดยสามารถติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรี หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด , เว็บไซต์ Oyyar.com , อีเมล : [email protected] , สายด่วน อย. 1556 , LINE official : FDAthai และแอพลิเคชั่น Oyyor Smart Application (ดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ ios และแอนดรอยด์)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: