เครือข่ายเยาวชนฯ เร่ง พม. ตรวจสอบคลิปเด็กซดเหล้า ประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก หวั่นสร้างค่านิยมผิด ส่งเสริมนักดื่มหน้าใหม่ ซ้ำละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายนักกฏหมายเพื่อเด็กและเยาวชน แกนนำเยาวชนจากหลายสถาบัน เข้ายื่นจดหมายถึง พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสัมคมและความมั่นคงของมนุษย์
ให้ตรวจสอบคลิปวีดีโอเด็กชายถูกยุยงให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก จนนอนหมดสภาพบนเปล ซึ่งเป็นคลิปวีดีโอที่ถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา และกำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กล่าวว่า “จากกรณีที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ อาร์ม ฝูงบินต่ำ ได้โพสต์คลิปวีดีโอแสดงพฤติกรรมเด็กผู้ชาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมดขวด พร้อมมีเสียงเชียร์จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์”
“หวั่นที่จะสร้างค่านิยมไม่ถูกต้องและยุยงส่งเสริมอาจเข้าข่ายทำความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ม.26 ที่ระบุว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือ ยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด”
“และจำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้สุรา หรือ บุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฎิบัติทางการแพทย์ นอกจากนี้ ม.27 ระบุว่า ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก”
“ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ เห็นว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และในฐานะที่รัฐมนตรี พม. เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอ ขอให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร”
“และหากพบว่ามีความผิด ขอให้เอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และกฏหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการปกป้อมคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย ตลอดจนเป็นการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหาย”
“และอยากให้เร่งประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพี่น้องประชาชนให้ยุติการเผยแพร่ คลิปวีดีโอดังกล่าว รวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อความผิดกฏหมายและอยากกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ป้องกันไม่ให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ ถูกยุยงส่งเสริมให้มีความเสี่ยง เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน”
อย่างไรก็ตามมีข้อมูลเปิดเผยจากกรมพินิจฯ ว่า เยาวชนที่ทำผิดกฎหมายมักมีพฤติกรรมดื่มเหล้ามากถึง 95.9 %
ชมคลิป //
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: