วันพืชมงคล – ทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด ได้รวบรวมสถิติการเสี่ยงทายผ้านุ่ง และของกิน 7 สิ่งของพระโค โดยศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – 2561
วันนี้ (14 พ.ค.61) เมื่อเวลา 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มายังพลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2561 ซึ่งปีนี้ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนา คือ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.นันทวัน สุวรรณสถิตย์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน น.ส.พรพิมล ศิริการ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร , เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.กันยารัตน์ นาคกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ กรมวิชาการเกษตร ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอและพระโคเพียง
สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ในปี พ.ศ.2561 พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่” ขณะที่การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ผลเสี่ยงทาย คือ พระโคกินน้ำ หญ้า และเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า “น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี” และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า “การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง”
ในวันพืชมงคลของทุกปี จะมีพระราชพิธีเกิดขึ้น 2 พิธี ได้แก่ “พระราชพิธีพืชมงคล” เป็นการประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งวันพืชมงคลในแต่ละปีนั้นๆ โหรหลวงจะคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือน 6 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เหมาะสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา โดยสำนักพระราชวังจะได้ประกาศในปฏิทินหลวง และกำหนดไว้ว่าปีนั้นๆ วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ที่มีมาแต่โบราณ มีจุดมุ่งหมายว่า ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี
ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ
ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และของกิน 7 สิ่งสำหรับเลี้ยงพระโค ซึ่งในทุกๆ ปี ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรจะรอผลคำทำนายดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการเพาะปลูกพืชในปีนั้นๆ
โดยการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนาขวัญนั้น พระยาแรกนาขวัญจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งเป็นผ้า 3 ผืน 3 ขนาด คือ 4 คืบ , 5 คืบ และ 6 คืบ ผ้านุ่งจะวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุม พระยาแรกนาขวัญ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ก็จะมีคำพยากรณ์ต่างๆ ดังนี้
ผ้านุ่ง 4 คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่”
ผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์”
ผ้านุ่ง 6 คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่”
สำหรับการเสี่ยงทายของกิน ๗ สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ
ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกินถั่ว หรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกินน้ำ หรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดม สมบูรณ์
ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ รุ่งเรือง
วันนี้ ทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด ได้รวบรวมสถิติการเสี่ยงทายผ้านุ่ง และของกิน 7 สิ่งของพระโค โดยศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน จากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – 2561 มีผลการเสี่ยงทายผ้านุ่ง และของกิน 7 สิ่งของพระโค ดังนี้
พ.ศ.2540 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินข้าวโพด น้ำ
พ.ศ.2541 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินข้าว เหล้า
พ.ศ.2542 – พระโคกินถั่ว หญ้า
พ.ศ.2543 – พระโคกินถั่ว หญ้า น้ำ
พ.ศ.2544 – พระโคกินถั่ว หญ้า
พ.ศ.2545 – พระโคกินข้าว เหล้า
พ.ศ.2546 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินข้าว หญ้า เหล้า
พ.ศ.2547 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินข้าวโพด หญ้า
พ.ศ.2548 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินข้าวโพด ถั่ว งา หญ้า
พ.ศ.2549 – เสี่ยงผ้านุ่ง 6 คืบ / พระโคกินหญ้า
พ.ศ.2546 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ น้ำมาก พระโคกินข้าว หญ้า เหล้า ฝนตก 7914.3 มม.
พ.ศ.2547 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ น้ำมาก พระโคกินข้าวโพด หญ้า ฝนตก 7188.4 มม.
พ.ศ.2548 – เสี่ยงผ้านุ่ง 4 คืบ น้ำมาก พระโคกินข้าวโพด ถั่วงา หญ้า ฝนตก 7708.5 มม.
พ.ศ.2549 – เสี่ยงผ้านุ่ง 6 คืบ น้ำน้อย พระโคกินหญ้า ฝนตก 8233.6 มม.
พ.ศ.2550 – เสี่ยงผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินข้าว ข้าวโพด หญ้า
พ.ศ.2551 – เสี่ยงผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินข้าว หญ้า
พ.ศ.2552 – เสี่ยงผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินงา หญ้า
พ.ศ.2553 – เสี่ยงผ้านุ่ง 6 คืบ / พระโคกินหญ้า
พ.ศ.2554 – เสี่ยงผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินหญ้า เหล้า
พ.ศ.2555 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 6 คืบ / พระโคกินหญ้า
พ.ศ.2556 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินข้าวโพด หญ้า
พ.ศ.2557 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 6 คืบ / พระโคกินหญ้า น้ำ
พ.ศ.2558 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 4 คืบ / พระโคกินหญ้า
พ.ศ.2559 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินข้าว ข้าวโพด งา หญ้า เหล้า น้ำ
พ.ศ.2560 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 5 คืบ / พระโคกินข้าว ข้าวโพด หญ้า
พ.ศ.2561 – เสี่ยงทายได้ผ้านุ่ง 6 คืบ / พระโคกินน้ำ หญ้า เหล้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: