X

มธ. เสนอ 5 มาตรการ ลดการใช้พลาสติกจากร้านค้าในศูนย์รังสิต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือกับภาคเอกชนด้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) เสนอ 5 มาตรการ ลดการใช้พลาสติกจากร้านค้าในศูนย์รังสิต พร้อมตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเป็น “ศูนย์”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีภาคเอกชนจัดงานแถลงข่าว “นโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) ตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเป็น “ศูนย์” พร้อมจัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งของผู้บริโภค” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. , รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล , คุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ครีเอทีฟสเปซ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาปริมาณขยะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องควรให้การใส่ใจและร่วมมือกันคลี่คลายปัญหานี้ เพราะในแต่ละปีมนุษย์ทั่วโลกสร้างขยะมูลฝอยมากกว่า 1,200 ล้านตัน และจากสถิติปี พ.ศ.2558 ของประเทศไทย พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมราว 26.85 ล้านตันต่อปี ซึ่งจากปริมาณดังกล่าวเพียงร้อยละ 31 ถูกกำจัดอย่างถูกต้องและมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสถานที่กำจัดขยะในประเทศไทยในปี พ.ศ.2559 มี 2,810 แห่ง แต่มีเพียง 330 แห่งเท่านั้นที่ทำการกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี

ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีนั้นมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 1,200 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินความสามารถในการรองรับของสถานที่กำจัดขยะในจังหวัดปทุมธานี จึงต้องส่งกำจัดในจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของ มธ. รังสิต มีประชากรโดยประมาณ 40,000 คน มีการสร้างขยะราว 3,360,000 กิโลกรัมต่อปี แต่สามารถคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น โดยเฉพาะอัตราการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อที่สูงถึง 6,500,000 ใบ ต่อปี

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินโครงการโครงการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) เพื่อการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste Campus) จากความภาคเอกชนที่ประกอบกิจการค้าปลีกในมหาวิทยาลัย ได้แก่ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น บริษัท สหลอว์สัน จำกัด เจ้าของร้าน ลอว์สัน 108 และ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เจ้าของร้าน ท็อปส์เดลี่ มินิซุปเปอร์มาร์เก็ต ในการเปลี่ยนพฤติกรรมประชากรในธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้มีการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเป็น “ศูนย์” และลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

โดยในความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ (1.) ยกเลิกการให้บริการถุงพลาสติกในทุกสาขาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เว้นเฉพาะ ถุงสำหรับใส่ของร้อนพร้อมทานเท่านั้น ยกเว้นสาขาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิม พระเกียรติ จะยังมีถุงพลาสติกให้บริการ ควบคู่ไปกับการใช้วิธีการรณรงค์ที่เหมาะสม เนื่องจากมีบุคคลภายนอกใช้บริการเป็นส่วนใหญ่ (2.) จำกัดการให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก โดยให้บริการเมื่อผู้ใช้บริการร้องขอเท่านั้น (3.) ยกเลิกจำหน่ายน้ำดื่มที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด (4.) ยกเลิกการให้บริการหลอดที่มีถุงพลาสติกหุ้ม และ (5.) ยกเลิกการรับร้องเรียนกรณีพนักงานไม่ให้ถุงพลาสติก ที่มาจากการใช้บริการร้านสาขาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพนักงานของร้านที่ถูกร้องเรียน เพราะเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ทำความร่วมมือกับศูนย์อาหารต่างๆภายในเขตมหาวิทยาลัย ให้เลิกการใช้แก้วพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ราว 90,000 ใบต่อเดือน

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินโครงการลดใช้พลาสติกในหลากรูปแบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และในปีพ.ศ. 2560 โดยมุ่งเน้นการลดใช้ช้อนส้อมพลาสติก หลอดพลาสติกและถุงพลาสติก พบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์จากปี 2559 หรือราว 1,800,000 ใบ ตลอดจนยังได้ดำเนินการตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ้งเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาในเรื่องการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University)

โดยมีแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การดำเนินการเปิดตัว “โซลาร์ไรด์” (SOLARYDE) โครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าและแสงอาทิตย์ และสถานีชาร์จไฟจากพลังงานโซลาร์เซลล์ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์จากบริการขนส่งสาธารณะ (Zero Carbon Transportation) โดยการใช้พลังงานสะอาดทดแทน เพื่อเป็นการลดมลพิษให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นการประหยัดการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน