รองปลัดกรุงเทพมหานคร เผยผู้ว่าฯ กทม. สั่งตั้งคณะกรรมพิจารณาคดีตลาดป้าทุบรถ พร้อมเร่งหาแนวทางจ่ายค่าเสียหายและผู้รับผิดชอบ คาดพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 30 พ.ค. 61
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงผลการประชุมเกี่ยวกับคดีตลาดป้าทุบรถว่า จากการประชุมผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ฝ่ายกฎหมายของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตประเวศ และสำนักการโยธา โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลกรณีป้าทุบรถ ซึ่งมีตนเป็นประธานคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน ใน 2 ประเด็นหลัก คือ (1.) ข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนของคำพิพากษาของศาลที่กรุงเทพมหานครยอมรับคำตัดสินและจะถือปฏิบัติตามที่ศาลมีคำสั่ง และ (2.) ค่าเสียหาย ในส่วนนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่ามีผลกระทบหรือว่ากรุงเทพมหานครจะต้องปฏิบัติอย่างไร หรือเห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดกับอัยการที่ว่าความให้กรุงเทพมหานครด้วย อีกทั้ง กรุงเทพมหานครก็อยากรับทราบความคิดเห็นของผู้ค้า หรือประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบตลาดด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของประชาชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นควรนำความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาด้วย
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะพิจารณาถึงความรับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายที่กรุงเทพมหานครจะต้องชดใช้ให้ผู้ร้อง ซึ่งเบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้องกรณีดังกล่าว จำนวน 15 คน มีทั้ง อดีตผู้อำนวยการเขต อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ และผู้อำนวยการเขต จึงต้องดูให้ละเอียดว่าตั้งแต่ปี 2553 แต่ละช่วงเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการละเมิดขึ้นมา เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมว่าผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นการทำความผิดในกรณีละเมิดหรือไม่ หากเป็นกรณีละเมิด ทางกรุงเทพมหานครก็จะให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 15 คน เป็นผู้ชดใช้ ซึ่งจะรับผิดชอบชดใช้ไม่เท่ากันแล้วแต่ระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ หากเกษียณแล้วอาจรับผิดชอบเพียงฐานละเมิด ส่วนผู้ที่ยังไม่เกษียณอาจต้องรับผิดชอบทั้งละเมิด คดีแพ่ง หรือคดีอาญาด้วยหรือเปล่า ซึ่งวินัยร้ายแรงอาจถึงขั้นไล่ออก ปลดออกได้ อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายมีความละเอียดอ่อนกรุงเทพมหานครจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
ส่วนกรณีการรื้อตลาดหรือไม่นั้น ขณะนี้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ต้องดูว่าเจ้าของตลาดอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ หากเจ้าของตลาดไม่อุทธรณ์หรือหากคำพิพากษาถึงที่สุดให้รื้อตลาดก็ต้องรื้อ โดยเจ้าของตลาดต้องเป็นผู้รื้อเองในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากครบกำหนดระยะเวลาในการรื้อตลาดแล้วเจ้าของตลาดยังไม่รื้อ กรุงเทพมหานครก็จะทำการรื้อและเรียกเก็บค่ารื้อตลาดจากเจ้าของตลาด ซึ่งตามหลักการกรุงเทพมหานครมีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล 30 วัน ซึ่งตามข้อกฎหมายด้านคำตัดสินกรุงเทพมหานครยอมรับ ส่วนเรื่องค่าเสียหายก็ต้องพิจารณาว่าใครต้องรับผิดชอบบ้างและรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค. 61 แล้วเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: