กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เผย แกร็บ (Grab) มุ่งมั่นช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในประเทศไทย ย้ำพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (22 พ.ค.61) เมื่อเวลาประมาณ 11:00 น. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด ถึงกรณีปัญหาการให้บริการของแกร็บ โดยเฉพาะ Grab Bike ที่มีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างสาธารณะออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก โดยระบุว่า “แกร็บ (Grab) มีความห่วงใยและเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะในประเทศไทย ที่ต้องประสบกับความยากลำบากหนักหลายด้าน ทั้งในแง่ของต้นทุนที่แบกรับรายได้ ความมั่นคง และความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะแบบเดิมจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ขับขี่ฯ ให้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานจริงที่ผู้โดยสารต้องการ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กฎระเบียบของการให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดและความท้าทายหลายด้าน ทั้งกับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายใต้ระบบการให้บริการที่มีความเป็นอิสระและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถตอบโจทย์ด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
(1.) รายได้ของผู้ขับขี่ การให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะมีรายได้จากช่องทางเดียว คือ การรับส่งผู้โดยสาร ในขณะที่เทคโนโลยีของแกร็บสามารถช่วยผู้ขับขี่มีรายได้เพิ่มเติม จากการรับงานส่งเอกสารและอาหารในช่วงเวลาที่ไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและบริหารเวลาได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ
(2.) ความปลอดภัย ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะต้องซื้อประกันอุบัติเหตุคุ้มครองเอง ในขณะที่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บ จะได้รับสิทธิ์ความคุ้มครองจากประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล นอกจากนี้แกร็บยังมีการตรวจสอบประวัติผู้ขับขี่ รวมถึงประวัติอาชญากรรม มีระบบการให้คะแนน และระบบการร้องเรียนผู้ขับขี่ เมื่อสิ้นสุดการเดินทางหรือเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งหากพบว่าผู้ให้บริการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือมีคะแนนการให้บริการเฉลี่ยต่ำกว่าที่กำหนด จะมีผลต่อการปิดระบบหรือยกเลิกการให้บริการ ดังนั้น การให้บริการของแอพพลิเคชั่นแกร็บ จึงถือเป็นการจูงใจรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้ขับขี่ ในฐานะของผู้ให้บริการ จะต้องให้บริการในมาตรฐานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
3. ความโปร่งใสของราคา เทคโนโลยีสามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการคำนวณราคาค่าโดยสารที่ได้รับมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันยังมีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยเฉพาะการแจ้งราคาค่าบริการให้ทราบล่วงหน้าก่อนให้บริการ”
อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “แกร็บ (Grab) มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะมีรายได้เพิ่ม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฉะนั้นการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นของแกร็บ (Grab) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ นอกจากนี้ แกร็บ (Grab) ยังมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และจะเจรจากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะเป็นไปอย่างตรงจุด และตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย รวมถึงการหาวิธีเยียวยาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้กรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: