X

ชวนเที่ยว “แรลลี่ ชม ชิม ช็อป ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีศรีสะเกษ” สัมผัสประสบการณ์ล้ำค่าแห่งแดนอีสานใต้

วันนี้ (30 ต.ค.61) ที่ห้องดาวินซี่ โรงแรมแกลเลอรี่ จ.ศรีสะเกษ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางทรงลักษณ์ วรภัย พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ นายสุรพล ตั้งคณสกุล ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรม “แรลลี่ ชม ชิม ช็อป ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ศรีสะเกษ” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ให้ชุมชนเกิดรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยมีการนำกิจกรรมแรลลี่ที่สนุกสนานเป็นตัวเชื่อมต่อสถานที่น่าสนใจต่างๆในแต่ละท้องถิ่นพร้อมชูสินค้า OTOP  อาหารท้องถิ่น และวัฒนธรรมมากมายตามเส้นทาง เชื่อมโยงของขวัญอันล้ำค่าที่ทุกท่านจะเห็นมุมมองใหม่และประทับใจในจังหวัดศรีสะเกษไม่รู้ลืม ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 17-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยการจัดแรลลี่ครั้งนี้ ได้จัดให้มีแรลลี่ท่องเที่ยวพร้อมกันเป็นสองประเภท ได้แก่ แรลลี่รถยนต์ และรถจักรยาน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษได้คัดเลือก 85 หมู่บ้านที่มีความพร้อมใน 22 อำเภอให้เป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี  จัดกลุ่มการท่องเที่ยวออกเป็น 7 แนวคิด เส้นทางอารยธรรมขอม ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน เส้นทางวิถีชนเผ่า ครอบคลุม 11 หมู่บ้าน เส้นทางสายไหม ครอบคลุม 20 หมู่บ้าน เส้นทางวิถีเกษตรปลอดภัยครอบคลุม 20 หมู่บ้าน เส้นทางผลไม้ดินภูเขาไฟครอบคลุม 4 หมู่บ้าน เส้นทางตามรอยพระพุทธศาสนาครอบคลุม 13 หมู่บ้าน และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติครอบคลุม 14 หมู่บ้าน

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นรายได้และความเจริญในภูมิภาคทั่วประเทศ จึงได้เกิดโครงการชุมช่องท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีขึ้นในทุกจังหวัด และจังหวัดศรีษะเกษเองก็มีผลิตภัณฑ์ มีศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำมาบูรณาการให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในเมืองกีฬา (Sport City)

จึงดำเนินงานตามนโยบาลภาครัฐในรูปแบบกิจกรรม แรลลี่ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานพร้อมเชื่อมโยงทั้ง 7 แนวคิดได้อย่างสมบูรณ์แบบ จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยการส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ การใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการขายสินค้าและการท่องเที่ยว อีกทั้งจะสร้างความประทับใจสร้างประสบการณ์ล้ำค่าให้ผู้มาเยี่ยมเยือนและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับจังหวัดศรีสะเกษได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน”

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน