X

ชาวเผ่ากูย จ.ศรีสะเกษ จัดงานบุญเบิกฟ้ามหัศจรรย์เดือนสามสืบสานวัฒนธรรม

วันนี้ (7 ก.พ. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ปราสาทปรางค์กู่ ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านใน ต.กู่ และ ต.ใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นชาวเผ่า ส่วย หรือ กูย  พร้อมใจกันจัดงานหวัวบุญเบิกฟ้ามหัศจรรย์ เดือนสาม สืบสานวัฒนธรรม  ขึ้น โดยเป็นการจัดงานบุญ  ตามประเพณีพื้นบ้าน เพื่อเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา ฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชาวกูย ตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตร โดยมีนายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีในครั้งนี้

นายทนงศักดิ์ นรดี ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลกู่ และชาวกูย อ.ปรางค์กู่ เล่าว่า ประเพณีงานบุญเดือนสามถือเป็นความเชื่อที่ชาวบ้านต้องมีการนำเครื่องเซ่นไหว้ มาถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านเชื่อ ต่างมีความเชื่อว่าก่อนฤดูทำนาจะต้องปฏิบัติเช่นนี้สืบทอดมาโดยตลอด  ซึ่งก่อนฤดูทำนาจะเริ่มขึ้น รวมทั้งการเสี่ยงทายจาก คางไก่ ซึ่งหากมีคางไก่มีส่วนโค้งสวยงามเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว พื้นที่นั้นๆ ก็จะมีพืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี ส่วนการรำ แกลมอ ที่ชาวเผ่าส่วย หรือ กูย ปฏิบัติสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องก็เพราะเพื่อทำการแก้บน หลังจากมีการรักษาโรคภัยไขเจ็บจากฤดูทำนาเสร็จสิ้นแล้ว

การจัดงานบุญประเพณีดังกล่าวตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ตามประเพณีของชาวเผ่ากูย  โดยภายในงานได้จัดมีการบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีสู่ขวัญข้าว การแสดงนิทรรศการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ จากสถานศึกษาในพื้นที่ การแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน (OTOP) การประกวดแข่งขันกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษา การจำลองวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวกูย การแสดงหมอลำกูย และการแสดง แสง สี เสียง ตำนานปราสาทปรางค์กู่ สู่อารยธรรมชนเผ่าชาวกูยศรีสะเกษ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวกูย

ทั้งนี้ ปราสาทปรางค์กู่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านกู่ ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ลักษณะเป็นปราสาท 3 หลัง สร้างเป็นแนวเรียงหน้ากระดานจากทางทิศใต้ไปทิศเหนือ ตั้งอยู่บนฐานที่สร้างด้วยหินศิลาแลงทั้งหมด สร้างเมื่อ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยขอมเรืองอำนาจ สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อใช้เป็นสถาน “อโรคยาสาร” หรือสถานีอนามัยเพื่อรักษาคนป่วยในสมัยนั้น ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมปราสาทปรางค์กู่ และวิถีชาวเผ่ากูย หรือ ส่วย อย่างต่อเนื่อง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน