ฝนถล่มสมุทรปราการกลางดึก ทำหลายหมู่บ้านจมบาดาล โดยเฉพาะหมู่บ้านทิพมาศ-เสรี ถนนปานวิถี ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ไม่สามารถสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้ประชาชน 1,300 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ด้านผู้บริหารท้องถิ่นบุกทวงถามการระบายน้ำ
วันที่ 10 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาที่จังหวัดสมุทรปราการเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางบ่อ เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักหลายชั่วโมงทำให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ อำเภอบางบ่อเกิดน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะที่หมู่บ้านทิพมาศ-เสรี ถนนปานวิถี ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ไม่สามารถสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้ประชาชน 1,300 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก รถเสียหายจากน้ำท่วมหลายสิบคัน ประชาชนไม่สามารถนำรถเข้าออกหมู่บ้านได้ หลายคนยังไม่ได้รับประทานอาหารเช้า บ้านบางหลังขาดแคลนน้ำดื่ม เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกแต่ทำไม่ได้เต็มที่เพราะน้ำจากหมู่บ้านต้องระบายออกคลองกันยาแต่คลองกันยาน้ำก็สูงเกือบถึงระดับเดียวกับน้ำในหมู่บ้าน หากฝนไม่ตกซ้ำอีก 2-3 วันน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ข่าวน่าสนใจ:
- สูงวัยตรัง ปลื้ม เตรียมตัวรับเงินหมื่น ฝันใช้ยามแก่-ต่อยอดอาชีพบั้นปลาย
- ค่ายรถยนต์ ผุดบูธเพิ่มช่องทางปั๊มยอดช่วงปลายปี หลังตลาดยังซบยาวต่อเนื่อง
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- ร้อยเอ็ด...กบห.โหวดพิฆาตเข้าพบรักษาการพ่อเมืองร้อยเอ็ด ร่วมต้อนรับรัฐมนตรีประจำสำนักฯ เปิดงานเดิน-วิ่งการกุศล ณ อ่างธวัชชัย 30 พ.ย. 67
ชาวบ้านเล่าว่า วันนี้ตนต้องลางานเพราะไม่สามารถออกไปทำงานได้ และไม่สามารถออกไปซื้ออาหารได้ จึงต้องออกมาเก็บผักในซอยไปทำอาหารกินมื้อเช้าที่บ้าน ตอนนี้เดือดร้อนมาก ฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่เมื่อช่วงตีหนึ่งจนถึงเช้า ต้องการให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องข้าวและน้ำดื่มเพราะชาวบ้านออกไปซื้อเองไม่ได้ ตั้งแต่ตนอยู่มาสิบกว่าปี ไม่เคยท่วมขนาดนี้ตอนนี้รถไม่สามารถเข้าออกได้เลยครับ
ขณะเดียวกันมูลนิธิร่วมกุศลสมุทรปราการได้นำอาหาร พร้อมน้ำดื่ม เดินทางมามอบให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในหมู่บ้าน โดยน้ำเรือทองแบนพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูตามบ้าน เผื่อประชาชนอยากจะให้ช่วยยกข้าวของขึ้นที่สูงหรือนำออกจากพื้นที่น้ำท่วม
นายวัฒนา เจริญจิตร นายอำเภอบางบ่อ กล่าวว่าตอนนี้เรื่องการขนย้ายประชาชนได้ประสานรถยกสูงจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการเข้ามาช่วยเหลือคอยรับส่งประชาชนเข้าออกหมู่บ้าน สำหรับความเดือดร้อนเรื่องอาหารและน้ำดื่มตนได้ประสานไปยัง นายยกเทศบาลบางบ่อ และ นายก อบต.บางเพียง ให้เข้ามาสนับสนุนแล้ว และตนยังประสานไปยังชลหารพิจิตรให้เร่งระบายน้ำพร่องน้ำในคลองสำโรงลงสู่ทะเลโดยเร็ว
ด้าน นายสัมฤทธิ์ จันทร นายก อบต.คลองด่าน (เสื้อเขียว) พร้อมด้วยรองนายก อบต.บางเพรียง และคณะ พากันไปที่สำนักบริหารจัดสรรน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ซึ่งเป็นสำนักงานระบายน้ำหลักของจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทวงถามและขอการชี้แจงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ หลังจากชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วม
นายก อบต.คลองด่าน เปิดเผยว่า หลังจากที่ปริมาณน้ำในพื้นที่ของอำเภอบางบ่อและใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำรับการระบายน้ำจากเมืองหลวงอย่างกทมรวมถึงฝั่งปทุมรังสิต ประกอบกับเป็นพื้นที่แอ่งกระทะแล้วมีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ทำให้ทั้งตำบลคลอด่านถูกน้ำเข้าท่วมพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน บ้านเรือนประชาชน รวมถึงบ่อกุ้งบ่อปลา ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นเองจะระดมสั่งกระสอบทรายมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านเพื่อป้องกันแล้วแต่ก็ไม่สามารถเอาอยู่ จนเกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ซิ่งที่ผ่านมาพบว่าการระบายน้ำในคลองเป็นไปอย่างล่าช้าจนสังเกตได้ จึงตัดสินใจพากันมาที่กรมชลประทานชลหารพิจิตร เพื่อทวงถามการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาการระบายน้ำของชลหารพิจิตรยังทำได้ไม่เต็มกำลัง โดยที่ผ่านมาพบว่าเป็นการระบายน้ำระบบธรรมชาติคือการใช้ประตูระบายน้ำ แทนการสูบน้ำ จนเกิดคำถามว่าเพราะอะไรทำไมถึงยังไม่ใช่เครื่องสูบน้ำซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ชลหารพิจิตรว่าระดับน้ำยังไม่ถึงขีดกำหนดที่จะต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยในการระบายน้ำ ตนเองในฐานะคนในพื้นที่เอง จึงได้ขอความร่วมมือการระบายน้ำหลังจากนี้ซึ่งนอกจากจะใช้ประตูระบายน้ำแบบธรรมชาติแล้วจะต้องเดินเครื่องสูบน้ำช่วยเพื่อเร่งระบายน้ำในคลองสายหลักให้ได้มากที่สุดเพื่อรองรับน้ำจากด้านบนที่จะลงมาสมทบ
นายจักรวาล จันตะเคียน รองนายกอบต.บางเพรียง (เสื้อลายสก็อต) เปิดเผยว่า ในส่วนของพื้นที่ตำบลบางเพรียงพบว่ามีน้ำเข้าท่วมสูงในหลายชุมชนทั่วตำบล ที่ผ่านมาพบว่าการระบายน้ำด้วยวิธีธรรมชาตินั้นไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ยิ่งหากมีกองขยะหรือผักตบชวาไปกองอยุ่หน้าประตูระบายน้ำยิ่งทำให้การระบายน้ำล่าช้าลงไป ตนเองมองว่าชลหารพิจิตรยังบริหารจัดการน้ำได้ไม่เต็มระบบ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่
ด้าน นาย วิรวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน สำนักโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร เปิดเผยว่า สำหรับโครงการชลหารพิจิตร จะมีสถานีสูบน้ำเรียบคลองทะเลทั้งหมดรวม 9 สถานี ไม่รวมประตูระบายน้ำ ที่ผ่านมายอมรับว่าใช้การระบายน้ำแบบประตูระบายน้ำธรรมชาติจริง หลักการใช้ประตูระบายน้ำจะใช้หลักการแรงโน้มถ่วง ในช่วงที่น้ำทะเลลงต่ำกว่าระดับน้ำจืดก็จะเปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล แต่พอมีน้ำทะเลหนุนก็จะปิดประตูระบายน้ำแล้วใช้เครื่องสูบน้ำสูบระบายน้ำออกสู่ทะเล ที่ผ่านมายืนยันว่ามีการระบายน้ำทั้งระบบบานประตูและเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมีเครื่องสูบระบายน้ำรวมแล้วประมาณ 24 เครื่อง แต่การเดินเครื่องสูบระบายน้ำไม่สามารถจะจะเดินเครื่องได้ตลอด ต้องสลับหยุดเพื่อพักเครื่องบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดเครื่องพร้อมกันทั้งหมด ในช่วงของการระบายน้ำพบว่าเจอปัญหา 3 น้ำ คือน้ำจากตอนบน น้ำทะเลหนุน และน้ำจากฝน ปัจจุบันโดน 3 ปัจจัยนี้ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากเมื่อเจอน้ำทะเลหนุน ก็จำเป็นต้องเบาเครื่องลง เพื่อไม่ให้ไปกระทบเกษตรชายฝั่งที่อาจทำให้คันดินของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ
ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตรรายงานว่า ความกดอากาศต่ำพาดผ่านจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 – 10 กันยายน 2565 บริเวณพื้นที่อำเภอบางพลี รวม 242.00 มม. คิดเป็นปริมาณน้ำ 6.08 ล้าน ลบ.ม. อำเภอบางบ่อ รวม 363.00 มม.คิดเป็นปริมาณน้ำ 12.19 ล้าน ลบ.ม. และอำเภอเมืองสมุทรปราการ รวม 129.90 มม. คิดเป็นปริมาณน้ำ 1.80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 20.07 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในเกณฑ์วิกฤต จึงขอให้ราษฎร ที่อยู่ริมคลองพระองค์ไขยานุชิต คลองด่าน คลองสำโรง คลองชายทะเล(เลียบถนนสุขุมวิท) คลองลาดกระบัง คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองบางโฉลง คลองจระเข้ใหญ่ และคลองบางเสาธง ให้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสังเกตระดับน้ำในคลองดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงไว้ก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้กรมชลประทาน จะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าหากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่สภาวะปกติ 1-2 วัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: