X

เจ็ดร่าง แรงงานไทยที่ทำงานอิสราเอลถึงไทยแล้ว

ร่างของ 7 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสงครามใน อิสราเอล ได้มาถึงประเทศไทยแล้ว โดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY083 ขณะที่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา ขณะที่รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ร่างของ 7 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสงครามใน อิสราเอล ได้มาถึงที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้ว โดยการนำกลับ ประเทศไทย โดยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY083 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.35 น. ซึ่งประกอบด้วย 1.นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ – ชาวจังหวัดอุดรธานี / 2.นายศักดา สุระคาย – ชาวจังหวัดหนองคาย / 3.นายนิติกร แซ่ว่าง – ชาวจังหวัดเชียงราย / 4.นายอภิชาติ กุสะรัมย์ – ชาวจังหวัดขอนแก่น / 5.นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี – ชาวจังหวัดอุดรธานี / 6.นายศรีทัศน์ กาเหว่า – ชาวจังหวัดกำแพงเพชร / 7.นายพิรุฬห์ พานนพิมพ์ – ชาวจังหวัดอุดรธานี

โดยมี ญาติพี่น้อง และ ครอบครัว บ้างส่วนของผู้เสียชีวิต มารอรับร่างของแรงงานทั้ง 7 ราย ตั้งแต่เช้า พร้อมกับ / นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน / นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ / นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย / นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ / พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายร่างแรงงานทั้งหมดกลับภูมิลำเนา

โดยทาง กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ( สถานะคืนวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ) โดยมีผู้เสียชีวิต 31 ราย ( เพิ่มขึ้น 1 ราย ) ผู้บาดเจ็บ 18 ราย ( คงเดิม ) และ ผู้ที่คาดว่าถูกควบคุมตัว จำนวน 19 ราย ( คงเดิม )

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 7 ราย มี 1 ราย คือ นายอภิชาติ กุสะรัมย์ อายุ 29 ปี ชาวขอนแก่น ที่ไปทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์พร้อมกับน้องชาย คือ นายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ อายุ 26 ปี และ ถูกกลุ่มฮามาสบุกยิงเสียชีวิต ทั้ง 2 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการส่งศพคนน้องกลับมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 และ ทางครอบครัวได้ทำพิธีฌาปนกิจที่วัดหัวหินประเสริฐธรรม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ไปเมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา

จากการสอบถาม นายวิเชียร บุญช่วย หัวหน้าทีมที่ลำเลียงศพ เผยว่า รอบนี้ตนเองไปส่งร่างที่ โรงพยาบาลเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เนื่องจากทาญาติแจ้งความจำนงว่าจะไปเปิดหีบที่โรงพยาบาล ก็เลยต้องไปส่งที่นั้น และ ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยทาง สุริยา และทีมงานจะทำอย่างดีที่สุด

ขณะที่ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างของแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลวันนี้กลับมาทั้งหมด 7 ราย โดยมี 5 รายที่มีประกันสังคมในประเทศไทย ทั้งนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา ขณะที่รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากอิสราเอล ที่เหลือยังต้องใช้เวลาพอสมควร และวันนี้ตนเองจะได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งจะมีการสอบถามความชัดเจนในอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางการอิสราเอลจะให้กับแรงงานไทยด้วย

ส่วนในช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่กลุ่มฮามาสโจมตีหนักขึ้นมีผลต่อการเคลื่อนร่างมาสนามบินหรือไม่นั้น นายอารี ยอมรับว่า ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่าง จึงมีแนวคิดว่า หากต่อไปจะมีแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในอิสราเอลจะต้องมีการหาที่หลบภัยให้ หรืออาจมีการซ้อมหลบภัยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งหากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะปลอดภัยและสูญเสียน้อยกว่าเดิมได้

ส่วนกรณีที่นายจ้างจากอิสราเอล เสนอค่าจ้างให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ต่อ นายอารี บอกว่าก็เป็นสิทธิของนายจ้าง ขึ้นอยู่กับคนงานของเรา และจากการที่ตนเองไปรอรับแรงงานพบว่าร้อยละ 70 บอกว่ายังมีภาระหนี้สิน แต่เนื่องจากช่วงแรกยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์จึงต้องเดินทางกลับมาตั้งหลักก่อน แต่อาจจะเดินทางกลับไปทำงานอีก โดยหากต้องการเดินทางกลับไปอีกครั้งกระทรวงแรงงานก็จะหาอาชีพให้ตามที่ความถนัด

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดว่า จะให้ธนาคาร ธกส. และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและระยะยาวให้กับแรงงานเพื่อช่วยเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงานในอิสราเอล เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับประเทศนั้น มองว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่จะจูงใจแรงงานกลับมาได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแรงงานว่าจะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่ ซึ่งก็มองว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีในการหาทางออกให้แรงงาน

ขณะที่กรณีมีบางเงื่อนไขของกระทรวงแรงงานที่หากเซ็นชื่อรับเงินเยียวยาไปแล้ว อาจจะถูกตัดสิทธิไม่ได้ไปทำงานที่อิสราเอลต่อนั้น นายอารี ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน โดยการจะให้แรงงานกลับไปทำงานที่อิสราเอลจะมีการหารือแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้ง

นายอารี ยังกล่าวถึง การติดตามค่าแรงจากนายจ้างที่อิสราเอล สำหรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งทูตแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอีก 10 คนที่ส่งไปช่วยประสานงานในเรื่องนี้ และจะประสานกับลูกจ้างด้วยว่ายังเหลือ หรือตกหล่นอะไร ขั้นตอนไหนบ้าง

ส่วนแรงงานที่จะเดินทางกลับไปทำงานตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีเกินครึ่งที่ให้ข้อมูลว่าอยากจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก ส่วนโอกาสที่นายจ้างในอิสราเอลจะไม่รับกลับไปทำงานนั้น นายอารียืนยันว่าไม่มี ซึ่งตามเงื่อนไขต้องรับอยู่แล้วเพราะบริษัทอยากให้กลับไป และอาจจะมีการเพิ่มค่าแรงเป็นแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงาน ต่อให้เดินทางกลับมาก่อนครบสัญญาก็ตาม เนื่องจากแรงงานไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรซึ่งอิสราเอลมีต้องการด้านนี้

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวในกลุ่มแรงงานจากอิสราเอลว่าจะรับกลับถึงแค่สิ้นเดือนเท่านั้น นายอารี บอกว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับ ทางรัฐบาลก็จะประสานหาเครื่องบินให้ไม่มีการทอดทิ้งแน่นอน และไม่ใช่แค่สิ้นเดือนนี้ ซึ่งกระแสข่าวอาจเป็นเพียงการกระตุ้นเพื่อให้แรงงานได้รีบกลับมาอย่างปลอดภัย และยืนยันว่าแรงงานที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดจะได้รับการดูแลในการกลับประเทศอย่างแน่นอน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน