X

อาชีวะสร้างชื่อครองแชมป์แกะสลักหิมะฮาร์บิ้นปีที่ 9 กลับถึงไทยแล้ว

สมุทรปราการ – นักศึกษาอาชีวศึกษา ” แชมป์ฮาร์บิ้นแกะสลักหิมะ”และคณะที่เดินทางไปแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เมืองฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 9 มกราคม 2561  ที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าท่าอากาศสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ  ดร.สุเทพ  ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมคณะได้เดินทางมาให้การต้อนรับและร่วมเป็นกำลังใจให้นักศึกษาอาชีวศึกษา ” แชมป์ฮาร์บิ้นแกะสลักหิมะ”และคณะที่เดินทางไปแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ (The 10th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2561 มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เมืองฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ เดินทางกลับมายังประเทศไทย ในวันนี้ด้วยสายการบิน DLC-BKK  เที่ยวบินที่ MF837

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สร้างสถิติแชมป์โลก 9 สมัยให้ประเทศไทยโดยคว้าสุดยอด 2 รางวัลเกียรติยศแห่งปี ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ และรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือใช้เทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม)  ถือเป็นสุดยอดรางวัลด้านงานศิลปะลวดลายไทย โดยรายการนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม จาก 12 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ทำให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เป็นแชมป์ติดต่อกันถึง 2 สมัย และรักษาสถิติแชมป์โลกจากการเข้าแข่งขันเป็นครั้งที่ 9 ของประเทศไทย

โดยทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ดีกรีแชมป์เก่า นำทีมโดย นางสุวนิจ สุริยพันตรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้ประสานงาน นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ นายสุระชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีมการแข่งขัน พร้อมด้วย นายกฤษณะ คบสหาย นายธนศักดิ์ พิพัฒน์ นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรชัยนักเรียน  ปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์

ด้วยการนำแนวความคิดมาจากป่าหิมพานต์ คติพุทธศาสนาและฮินดูที่ถือว่าเป็นดินแดนทิพย์ที่มีอยู่จริงจัดอยู่ในเขตสวรรค์ชั้น 1 คือชั้นจาตุมหาราชิกาที่ใกล้ชิดกับมนุษย์โลกซึ่งส่งผลต่อคติความเชื่อของคนไทยมาจนถึงปัจจุบันด้วยพลังความศรัทธาเป็นมงคลชีวิตที่ดีงามสัตว์ป่าหิมพานต์ถือเป็นตัวแทนของบุญวาสนาและความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบ ในชื่อผลงานที่ว่า อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี ด้วยการนำ ม้า-นก-ปลาและน้ำ จากป่าหิมพานต์มาแกะสลักลงบนก้อนหิมะ เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญก้าวหน้ามุมานะอดทนและความขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต “นก”หมายถึงความอิสระของพลังแห่งความคิดการกระทำมักมีความฉลาดหลักแหลมด้านสติปัญญาและทะยานบินไกลสู่ความสำเร็จ“ปลา”หมายถึงสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง การมีเงินทองล้นหลามความอุดมสมบูรณ์ร่ำรวย มีผลกำไร“น้ำ”หมายถึงชีวิตแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์  ความสุข ความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ และเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้

ส่วนวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ  สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ร่วมกันซึ่งนำเสนอผลงานการแกะสลักภาพไก่ชนพื้นบ้าน โดยทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และผลงานการแกะสลักภาพสัตว์นำโชค เต่าและมังกร จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ

นายอภิสิทธิ์ ศรไชย หนึ่งในทีมเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า ตนและเพื่อนในทีมคิดและคาดหวังกับการแข่งขันในครั้งนี้มาก เนื่องจากเป็นปีสุดท้ายของการแข่งขัน ตนและเพื่อนจะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ ปีต่อไปคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรุ่นน้องได้รับใช้ชาติต่อไป ตนขอขอบพระคุณผู้บริหาร ครู เพื่อนๆและคนไทยทั้งประเทศที่ส่งกำลังใจเชียร์ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีตลอดมา นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ อยากฝากบอกทุกคนว่าวันนี้เด็กอาชีวศึกษาคือฝีมือชน คนสร้างชาติเป็นคำที่ยืนยันให้เห็นศักยภาพอย่างไม่ต้องสงสัย จากนี้ไปตนและเพื่อนจะได้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปพัฒนาด้านวิชาชีพของเองในอนาคต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน