วันที่ 11 เมษายน 66 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามโครงการศึกษาวิจัยเพื่อใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โปรยน้ำแรงดันสูงเพื่อกำจัดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสัตว์ ฯลฯ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นอีกหนึ่งในหน่วยงานที่เห็นถึงความสำคัญของการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทดสอบและวิจัยการประยุกต์ใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำหรับพ่นละอองน้ำแรงดันสูง เพื่อควบคุมและบรรเทาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่ระดับความสูง 5,000-6,000 ฟุต หรือ ประมาณ 2,500-2,700 เมตร โดยเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์ท่อโปรย (Air scoop) ติดตั้งบนอากาศยานชนิด CASA และ CN-235 พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง (Air Pump, Water Pump, Pressure Line & Nozzle) รับการป้อนน้ำจากเครื่องยนต์ดีเซลพร้อมปั๊มแรงดันสูง มีถังบรรจุน้ำ INTERMEDIATE BULK CONTAINER หรือ IBC ที่มีคุณสมบัติด้าน น้ำหนักเบา จำนวน 3 ถัง ขนาด 500 ลิตร จำนวน 2 ถัง และขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 1 ถัง พร้อมโครงเหล็ก ติดตั้งไว้ตรงกลางลำตัวเครื่องบิน เพื่อให้ถังน้ำไม่เกิดการเคลื่อนไหว เมื่ออยู่ภายใต้สภาวะการบินที่แปรปรวน
ข่าวน่าสนใจ:
จากการทดสอบที่ผ่านมาพบว่าการกระจายตัวของละอองน้ำที่ภาคพื้น หัวฉีดสามารถทำระยะการพ่นไกลได้สูงสุดถึง 10 เมตร และครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร ที่ระดับการบินความสูง 5,000-6,000 ฟุต และจะดำเนินการปล่อยละอองน้ำเป็นระยะเวลา 50 นาที ต่อรอบการปฏิบัติภารกิจ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเหนือท้องฟ้าจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย คาดว่าละลองน้ำที่พ่นออกมาจากตัวอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะช่วยลดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ในระดับหนึ่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: