แม่ทัพภาคที่ 3 เผยครึ่งปียึดยาบ้าได้ถึง 51 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน พบโรงงานผลิตยาเสพติดหันไปใช้สารเบนซิลไซยาไนด์ผลิตยาบ้า-ไอซ์ แทนซูโดอีเฟรดีนที่ถูกควบคุม
พล.ท.สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 เผยในการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 (รอบ 6 เดือน ห้วง 1 ต.ค. 65 – 31 มี.ค. 66) ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ว่าครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65 – มี.ค. 66) ศอ.ปส.ชน. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา มีการจับกุมจำนวน 241 ครั้ง ตรวจยึดยาบ้า 51,562,885 เม็ด , ไอซ์ 1,296.67 กิโลกรัม , เฮโรอีน 6.73 กิโลกรัม , ฝิ่นดิบ 60.09 กิโลกรัม และ เคตามีน 300 กิโลกรัม จับกุมผู้ต้องหารวม 249 คน หากเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2565 พบว่าผลการจับกุมและตรวจยึดยาบ้าและไอซ์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50
ขณะเดียวกันพบว่าแม้ Ephedrine/Pseudoephedrine และ P-2-P จะยังเป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตไอซ์และยาบ้า แต่เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นสารเคมีควบคุมตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1988 ทำให้ยากต่อการจัดหาและขนส่ง ทำให้ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดหันมาใช้สารเคมีชนิดอื่น เช่น สารเบนซิลไซยาไนด์ (C8H7N), สารเบนซิลคลอไรด์ (C7H7Cl) เป็นสารตั้งต้นใช้ในการผลิตยาเสพติดแทน โดยเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจยึดและอายัดสารเบนซิลไซยาไนด์ จำนวน 25,000 กิโลกรัม ที่ด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจากการสอบสวนทราบว่าสารดังกล่าวถูกส่งมาจากประเทศอินเดีย โดยบริษัทสัญชาติจีนเป็นผู้สั่งซื้อ เพื่อนำผ่านประเทศไทยทางท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศเมียนมา
เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน ซึ่งอาจเป็นการยากในการควบคุม ศอ.ปส.ชน. ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้บูรณาการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจการนำเข้าส่งอกกและการนำไปใช้ของบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีควบคุมในความครอบครอง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องปรามการลักลอบลำเลียงสารเคมีออกนอกประเทศไปใช้ในการผลิตยาเสพติด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: