เชียงใหม่ – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะคนไทยอย่าตื่นตระหนก ยืนยัน ‘ดาวเคราะห์น้อย’ เฉียดโลก 10 สิงหาคมนี้ ไม่ชนและไม่เกิดผลกระทบต่อโลก
นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ชี้แจงกรณีมีข่าวเผยแพร่เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 (สองศูนย์ศูนย์หก คิวคิวสองสาม) ที่จะโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 7.3 ล้านกิโลเมตร (ระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงจันทร์ ประมาณ 0.38 ล้านกิโลเมตร) และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 570 เมตร ยาวกว่าความสูงของตึกใบหยกเกือบสองเท่า
ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 ถูกค้นพบโดยหอดูดาวไซดิงสปริง ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549 จัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroids) เนื่องจากมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างประมาณ 85-154 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้นิยามเกี่ยวกับวัตถุใกล้โลก คือ วัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 147-194 ล้านกิโลเมตร (โลกของเราโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 263 วัน เคยโคจรเข้าใกล้โลกมาแล้วหลายครั้ง การโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 นี้จึงถือเป็นเรื่องปกติ
นายสิทธิพร เดือนตะคุ กล่าวต่อว่า แม้ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 จะมีขนาดใหญ่ แต่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่นาซาและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกติดตามมาโดยตลอด จึงสามารถคาดการณ์ตำแหน่งการโคจรของดาวเคราะห์น้อยนี้ได้อย่างแม่นยำ และพบว่าอยู่ห่างจากโลกมาก การโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จึงไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อโลก แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว ในส่วนของ สดร.ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศสำหรับสังเกตการณ์วัตถุนอกโลก ร่วมกับนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเช่นกัน
ข่าวน่าสนใจ:
“การเข้าใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 ครั้งนี้ นับเป็นระยะทางที่ห่างจากโลกค่อนข้างมาก ไม่มีโอกาสที่จะชนโลก และไม่มีอิทธิพลอะไรกับโลก ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่จะหาแนวทาง และวิธีป้องกันที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน ตรงกันข้าม เราควรจะศึกษาและรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีความตระหนักและตื่นตัวอยู่เสมอ” นายสิทธิพร เดือนตะคุ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: