X

สำเร็จภารกิจกู้ภัยถ้ำหลวง เผยต้องรีบนำตัวออกเหตุออกซิเจนในถ้ำลด

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วม ค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง แถลงปิดศูนย์ฯ ขอบคุณความร่วมมือทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ช่วยกันทำภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2561) เวลา 18.05 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และคณะ แถลงข่าวปิดศูนย์อำนวยการร่วมในการช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอคาเดมี่พร้อมโค้ชออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามห่วงใยและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทรงพระราชทานทั้งกำลังใจ และสิ่งของโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดหาอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดหาซื้อตามระบบราชการได้ทันเวลา เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการกู้ภัยได้ทันเหตุการณ์

รวมไปถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เลยคำว่ากู้ภัย แต่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในความสามัคคีปรองดองของมวลมนุษยชาติ คนที่อยู่ตรงนี้ไม่มีใครสนใจว่าใครจะมีเชื้อชาติไหน  นับถือศาสนาใด  เป้าหมายของทุกคนคือช่วยชีวิตเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยกลับมา ทุกคนทำงานโดยทลายกำแพงและปราศจากชั้นยศเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายเดียวกัน

นอกจากนั้น การปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จลงได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ  ทั้งความร่วมมือ และความหวังดี ซึ่งอาศัยขีดความสามารถของทุกประเทศทั่วโลก นำมาบูรณาการ เป็นประชารัฐ ที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยขอขอบพระคุณทุกภาคส่วน

ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสแห่งความร่วมมือ นำไปสู่ความสำเร็จในการกู้ภัย สำหรับการตอบแทนมิตรไมตรีของอาสาสมัครและชาวต่างชาติที่มาร่วมงาน จะได้รวบรวมข้อมูลความช่วยเหลือมิตรไมตรีจากต่างประเทศ  เพื่อจะตอบแทนน้ำใจของท่านเหล่านั้นต่อไป เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

แม้ว่าศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จะปิดลง แม้ภารกิจค้นหาและกู้ภัยจะเสร็จสิ้น แต่ยังคงมีภารกิจที่ยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ การจัดระบบเตือนภัย โดยจะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้และปฏิบัติการ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยทุกหน่วยงานจะต้องนำปัญหามาพูดคุย ว่าได้ปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างไร หากในอนาคตเกิดมีปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกันก็จะนำแนวทางการแก้ปัญหาครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาพื้นที่สวนไร่นาด้วย

ในส่วนของการควบคุมหรือการนำเสนอข่าวการปฏิบัติการครั้งนี้ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องขออภัยพี่น้องสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากเป็นสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ  ท่านอาจจะได้รับข้อมูลข่าวสารล่าช้าหรือไม่ได้ดั่งใจที่ปรารถนา แต่เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาระดับสากล  ที่มีกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองก่อนนำเสนอ โดยการตัดสินใจนำเสนอข่าวทุกครั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของทั้ง 13 ชีวิต

เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ความผิดของเด็ก และเขาก็ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด  และเชื่อมั่นว่าวิกฤติในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้เด็กและผู้ปกครองได้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนทั่วโลกและเชื่อว่าเมื่อเขาเหล่านั้นทราบถึงความห่วงใยของคนทั้งโลกที่มีต่อเขา จะหล่อหลอมจิตใจให้เขาเป็นคนดีให้สมกับที่สังคมให้การช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ในวันข้างหน้าเมื่อเด็กได้รับการฟื้นฟูสภาพทุกอย่างแล้ว ใครต้องการจะสอบถามสารทุกข์สุขดิบ ให้ประสานผู้ปกครอง ซึ่งให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ปกครองตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ หลังจากปฏิบัติการแล้วเสร็จจะมีการรวบรวมอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยจะประสานหน่วยงานที่ช่วยเหลือ เพื่อรวบรวมอุปกรณ์ที่ใช้แล้วและไม่สามารถนำกลับไปใช้ได้ เพื่อรวบรวมเป็นองค์ความรู้ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

บนความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ก็มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราเสียใจอย่างสูงสุด คือการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ของจ่าแซม หรือ จ่าเอก สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล เชื่อว่าคนไทยทุกคนก็รู้สึกอย่างเดียวกัน ทุกคนจะจดจำวีรกรรมครั้งนี้ตราบนานเท่านาน พร้อมกันนี้ได้รับทราบข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับโทรศัพท์จากคุณจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีกับความสำเร็จของปฏิบัติการครั้งนี้

โดยตอนหนึ่งของบทสนทนาท่านบอกว่า บิดาของนายแพทย์ริชาร์ด แฮริส บุคคลสำคัญของการนำเด็กออกมาจากถ้ำ ได้เสียชีวิตเมื่อคืนที่ผ่านมาและคุณหมอได้เดินทางกลับทันที ในนามของผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ และในฐานะตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ ของแสดงความเสียใจและขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
จากนั้น พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) กล่าวว่า  กองทัพเรือยึดมั่นในสโลแกนที่ว่า “กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน” เมื่อทางจังหวัดเชียงรายขอให้ส่งกำลังพลหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือ หน่วยซีล จากกองทัพเรือ มาร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน กองทัพเรือก็ได้จัดกำลังพล นสร. มาร่วมปฏิบัติการในทันทีตั้งแต่วันแรก ซึ่งภายในของถ้ำหลวงมีลักษณะที่มืดมาก กับทั้งมีน้ำอยู่ในถ้ำมาก ทำให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องขอกำลังพลมาเพิ่ม
โดยกำลังพลทุกคนไม่ละความพยายามที่จะเข้าไปช่วยน้อง ๆ ซึ่งหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนได้นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยสูบน้ำออกจากถ้ำ ทำให้ระดับน้ำในถ้ำลดลงแต่ก็ไม่มาก เพียงวันละ 1- 2 ซ.ม.เท่านั้น  แต่สุดท้ายแล้วก็สามารถดำน้ำไปถึงโถง 3 ตั้งกองบัญชาการได้ และตัดสินใจที่จะสู้กับน้ำเพื่อช่วยน้องๆ ออกมาให้ได้
ในการปฏิบัติการได้รับพระราชทานขวดอากาศ และได้รับบริจาคขวดอากาศกับอุปกรณ์ดำน้ำพอสมควร ทำให้เราคิดว่าเราสู้ได้  รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากนักดำน้ำนานาชาติที่มาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อังกฤษ เยอรมัน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และกลุ่มที่สำคัญมากคือผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ  ซึ่งนักดำน้ำและหน่วยซีลได้ร่วมกันปฏิบัติการจนเจอน้อง ๆ ทั้ง 13 คน
เผยต้องเร่งนำตัวออกเหตุออซิเจนในถ้ำลดลง
ทั้งนี้ หน่วยซีลได้ส่งกำลังพล 4 นาย หนึ่งในนั้นคือ พันโท นายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน จากกองทัพบก เข้าไปอยู่กับน้อง ๆ แล้วเร่งวางแผนนำน้อง ๆ ออกจากถ้ำ  เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในถ้ำที่ลดลงเหลือ 15% ทำให้มีอากาศหายใจได้น้อยลง ประกอบกับฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องทำให้มีน้ำเต็มถ้ำ และการเจาะถ้ำที่มีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยเวลา  ทีมดำน้ำจึงได้มีหารือวางแผนในการนำน้อง ๆ ออกจากถ้ำ โดยได้ความร่วมมือจากนักดำน้ำระดับโลก จนสุดท้ายได้แผนการนำน้อง ๆ ออกมาและรับการอนุมัติจาก ผบ.ศอร. และหน่วยเหนือให้ปฏิบัติการได้ จนสามารถนำน้อง ๆ ออกมาได้ทั้ง 13 ชีวิต รวมทั้งหน่วยซีล 4 คนก็ออกมาด้วย

“ภารกิจตรงนี้ถือว่ายากมาก ยากจริง ๆ ยากที่เราไม่เคยเจอ ตามที่ผู้ว่าฯ ได้กล่าวมาแล้ว ต้องเป็นบทเรียนและต้องมีการพัฒนาตัวบุคลากรของเราเพิ่ม เพื่อให้เราสามารถรับกับภัยพิบัติได้ในหลายรูปแบบ เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ภาคใต้ จ.ภูเก็ต เรือล่ม ต้องส่งทหารเรือเข้าไปกู้ภัย เราจะเจอกับภัยพิบัติอย่างนี้เรื่อย ๆ ดังนั้นกองทัพเรือก็ต้องเตรียมคนให้พร้อม เพราะกองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน” ผบ.นสร.กล่าว

รอดูอาการ7-10วัน
นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้รับมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลรักษาควบคุมป้องกันโรคของนักฟุตบอล และผู้ช่วยโค้ชจากทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย รวม 13 ชีวิต และในนามของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทั้ง 3,000 คน
ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้กำลังใจในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้  พร้อมกล่าวยืนยันว่า  จะใช้มาตรฐานวิชาชีพในการรักษาควบคุมป้องกันและควบคุมโรคให้เป็นไปตามทฤษฎีทุกประการโดยมีผู้ให้คำปรึกษามาจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มกำลังความสามารถ
นอกจากนี้ ในระหว่างการทำงานทางโรงพยาบาลได้มีคนไข้ใน  คนไข้นอก และผู้ป่วยทั่วไปเป็นจำนวนมากต่อวันเช่นกัน แต่ไม่มีผลกระทบจากการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ทั้งนี้ โดยกลุ่มที่ 1 เข้ารับการรักษาวันที่ 8 ก.ค. 61 อายุระหว่าง 14-16 ปี จำนวน 4 ราย กลุ่มที่ 2 เข้ารับการรักษาวันที่  9 ก.ค. 61 อายุระหว่าง 12-14 ปี จำนวน 4 ราย  และกลุ่มที่ 3 เข้ารับการรักษาวันที่  10 ก.ค.  61 อายุระหว่าง 11-15 ปี จำนวน 5 ราย รวมทั้งหน่วยซีลอีก จำนวน 4  ราย
ขอยืนยันว่า ทั้ง13 ชีวิต นักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชจากทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย และหน่วยซีลอีก 4 รายนั้นมีอาการปลอดภัย แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย จำนวน 3 ราย  ที่เหลือมีการดูผลเลือดที่มีการตรวจละเอียดอย่างมาก เนื่องจากเป็นกรณีที่ไม่ปกติ   โดยในเบื้องต้นต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน และจะมีการประเมินเป็นระยะ ๆ ต่อจากนั้นจะมีแผนให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านอย่างน้อย 30 วัน โดยทางคณะแพทย์จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้  ยังได้รับอนุญาตจากศูนย์อำนวยการและญาติทุกครอบครัวให้นำข่าวและภาพมานำเสนอให้คลายความกังวลให้แก่ทุกคน  โดยจะเห็นได้จากเด็กทั้ง 13 คน ได้รับการดูแลตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเต็มที่ มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม  ทุกคนสบายดี สามารถเดินได้ รับประทานอาหารและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติแล้ว โดยรวมทุกคนนั้นมีสุขภาพดี  และล่าสุดได้อนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมได้แล้ว ในเบื้องต้นยังต้องผ่านระยะห่างตามมาตรฐานการควบคุมและป้องกันโรค

พร้อมกันนี้ ทางคณะแพทย์ยังต้องรักษามาตรฐานวิชาชีพเรื่องการควบคุมป้องกันโรคต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากกรณีที่ไปอยู่ในถ้ำหลายวัน เป็นกรณีที่พบไม่บ่อยนัก  ในตำราทางวิชาการก็พบกรณีดังกล่าวน้อยด้วยเช่นกัน  อีกทั้ง  ในส่วนของสุขภาพทางจิตใจนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการเยียวยาทั้งครอบครัวและเด็กทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ในการเข้าสังคม ตลอดจนการตอบสนองต่อสังคมอีกด้วย

สูบน้ำ17วันกว่า1ล้านลบ.ม.
ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวถึงผลสรุปภาพรวมของการปฏิบัติการของหน่วยงานในการช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชหมูป่าอคาเดมี่ ทั้ง 13 คน ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนให้มีความปลอดภัยว่า การปฏิบัติงานทั้ง 17 วัน ตลอดระยะเวลาได้สูบน้ำออกมาจากถ้ำทั้งหมดกว่า 1 ล้านลูกบาตรเมตร โดยในแต่ละวันต้องสูบน้ำกว่า 2 หมื่นลูกบาตรเมตร
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหน่วยสนับสนุนภารกิจจากหน่วยงานหลัก คือ ทีมหน่วยซีล ทีมทหาร โดยมีภารกิจหลักในการสำรวจโพรงถ้ำในจุดต่าง ๆ ซึ่งพบประมาณ 100 กว่าโพรง โดยมีทีมเก็บรังนกนางแอ่นจากหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรังมาร่วมดำเนินการด้วย ทั้งนี้ มี 2 โพรงที่สามารถเจาะเพื่อปฏิบัติภารกิจได้
นอกจากนี้ มีการสำรวจทางน้ำ ลำห้วย เพื่อเปลี่ยนช่องทางน้ำไหลออกมาจากถ้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากอธิบดีกรมชลประทาน และอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และทีมธรณีฟิสิกส์ เข้าสำรวจโพรงในจุดต่าง ๆ ซึ่งต้องมีข้อมูลที่เพียงพอในการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีกรมชลประทานได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย

จากนั้น ได้มีการสูบน้ำออกจากจุดบริเวณบ้านผาหมี ห้วยน้ำดั้ง โดยจุดนั้นน้ำจะเข้าไปประมาณ 18,000 ลูกบาตรเมตรต่อวัน โดยค่อย ๆ ซึมเข้าไปภายในถ้ำ หลังจากสำรวจแล้วได้ขอกำลังจากหลายภาคส่วนกว่า 400 นาย เพื่อช่วยกันลำเลียงท่อสูบน้ำเข้าไปยังจุดที่ต้องสูบน้ำออกมาซึ่งมีการทำฝายไว้ก่อนแล้ว  โดยการลำเลียงใช้ท่อทั้งหมด 7 เส้น ความยาวประมาณ 2.8 กิโลเมตร ตลอดจนได้มีการทำบายพาสทางน้ำเพิ่มเติมเพื่อการระบายออกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งได้ร่วมภารกิจลำเลียงถังอ๊อกซิเจนเข้าไปยังจุดต่าง ๆ ภายในถ้ำอีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการฟื้นฟูถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ได้มีการเตรียมการวางแผนไว้เสร็จแล้ว เพื่อให้จุดหรือโพรงต่าง ๆกลับมาสู่สภาพรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโดยรวมเช่นเดิม และมีการเตรียมแผนมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยจะได้นำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติต่อไป รวมถึงมีแผนปรับภูมิทัศน์ และมาตรการต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาชมถ้ำในอนาคตอันใกล้ให้มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ นายกอบชัย บุญออรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในครั้งนี้ว่า ปภ. ได้ประกาศให้ถ้ำหลวงฯ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้ พร้อมทั้งได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการได้ในสถานการณ์พิเศษ ด้วยการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอุปกรณ์การระบายน้ำ เครื่องมือหนักที่หลากหลายชนิด พร้อมทั้งมีนักวิชาการร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนมีแผนหลักการในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของถ้ำหลักจากนำทีมนักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ แม่สาย รวม 13 คน ออกจากถ้ำไปหมดแล้ว ตลอดจนนำกรณีดังกล่าวมาเป็นบทเรียนระดับประเทศ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยและการทำแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างเป็นระบบตามหลักสากล

ด้านนายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเสียสละพื้นที่สำหรับรองรับการระบายน้ำออกจากถ้ำเพื่อช่วยเหลือทีมนักฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดชียงราย ว่า ภายหลังภารกิจกู้ภัยในถ้ำประสบผลสำเร็จแล้ว ในส่วนการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในฐานะตนเองเป็นตัวแทนประสานงานในระดับจังหวัดก็ได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยมีแผนที่จะเยียวยาเบื้อต้นด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวเพื่อช่วยเสริมรายได้ภายหลังน้ำลด รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้แก่เมล็ดพันธุ์ข้าว กข.6 และข้าวหอมมะลิ ตลอดจนสารชีวภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรคพืช เป็นต้น

พื้นที่เกษตรเสียหาย1.7พันไร่จากระบายน้ำ
ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ จำนวน 1,743 ไร่ 128 ราย โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากนาลงไปสู่คลองสาธารณะ ภายในระยะ 2 – 3 วัน ก็สามารถนำน้ำออกจากพื้นที่นาของเกษตรกรได้ พร้อมได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ผู้แทนเกษตรตำบล กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ลงไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดเพื่อประเมินความเสียหายในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ขณะนี้สำรวจพบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังทั้งหมด จำนวน 1,266 ไร่ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการบันทึกและติดประกาศในชุมชน รวมทั้งจะมีการประชุมคณะกรรมการโดยมีนายอำเภอเป็นประธาน ก่อนนำข้อมูลเสนอคณะกรรมการที่มีผู้แทนของส่วนราชการเป็นกรรมการและมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 นี้ โดยใช้  งบฯ ฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมี 50 ล้านบาท
สำหรับในวันพรุ่งนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มาช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนโดยการมอบปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าว และสารชีวภัณฑ์ ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำดังกล่าวสำหรับไว้เพาะปลูกภายหลังน้ำลด จากนั้นจะมีการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป
จากนั้น พลตำรวจตรี ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้กล่าวว่า การปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นั้น ได้ดำเนินการในส่วนของการเตรียมพื้นที่อำนวยความสะดวกในด้านการจราจร เนื่องจากถนนหนทางที่มีความแคบจึงจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบจราจรเพื่อความปลอดภัยของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งมีการสนับสนุนการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติภารกิจภายในถ้ำของตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนป้องกันและดูแลทรัพย์สินของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความปลอดภัย อีกทั้ง ดูแลด้านการจัดระเบียบสื่อมวลชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำเสนอข่าวสารครั้งนี้สู่ประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นย่างดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน