X

จัดตั้ง”สถานศึกษา-องค์การมหาชน”ใหม่3แห่ง

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎหมายจัดตั้งสถานศึกษาและองค์การมหาชนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 3 ฉบับ คือ (1) พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ. 2561 ( 2) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 และ (3) พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3)

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มุ่งเน้นให้การศึกษาด้านทักษะวิชาชีพและเทคโนโลยีบนฐานของวิทยาศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชำนาญในการปฏิบัติ ทำการสอน วิจัย ริเริ่ม ถ่ายทอด ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ผู้เข้ารับการศึกษามีโอกาสศึกษาด้านวิชาชีพเฉพาะทางจนถึงระดับอุดมศึกษา ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา และมีวินัย

โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดาในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านทักษะวิชาชีพและเทคโนโลยีให้แก่บุคคลทั่วไป สถานศึกษาทั้งสองแห่งดังกล่าว ได้ผลิตบุคลากรในสายวิชาชีพซึ่งมีความรู้ความสามารถอันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนซึ่งมีทักษะด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในระดับสูงมากขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาสร้างความชำนาญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยให้ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานสายวิชาชีพมีโอกาสศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางในระดับปริญญา ให้การจัดการศึกษามีความต่อเนื่อง สามารถขยายสาขาการเรียนสายวิชาชีพให้มีความหลากหลาย มีการผลิตกำลังคนซึ่งมีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพในระดับสูงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สมควรรวมวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดา มาจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีฐานะเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีในกำกับของรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สศส.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Creative Economy Agency (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “CEA” ให้สำนักงานมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน และสถาบันการศึกษา
(3) ส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น
(4) พัฒนาผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
(5) เป็นศูนย์กลางการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม
(6) ส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงบนพื้นฐานแนวคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีนวัตกรรม การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ

รวมทั้งยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สมควรจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้  อ่านราชกิจจานุเบกษา

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ให้สำนักงานมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นองค์กรบริหารและจัดการความรู้ที่สมบูรณ์ หลากหลาย และเป็นองค์กรพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
(2) ให้บริการและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ทั้งในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
(3) ส่งเสริมให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการเข้าถึงและการใช้บริการด้านการเรียนรู้ รวมทั้งพื้นที่ในการค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งที่เป็นพื้นที่จริงทางกายภาพและพื้นที่เสมือนจริง
(4) สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ที่หลากหลาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้
(5) ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาทักษะที่หลากหลาย
(6) สร้างสังคมการเรียนรู้ในภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมทั้งการนำความรู้ไปต่อยอดและขยายผล เพื่อสร้างรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่
(7) สร้างนวัตกรรมและพัฒนาการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของคนทุกช่วงวัยรวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นต้นแบบขยายผล

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559เพื่อให้การบริหารงานและการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้  อ่านราชกิจจานุเบกษา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน