“ไครียะห์” ร่วมวงเสวนาหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ชี้การพัฒนาท้องถิ่นไม่ควรตีกรอบอยู่กับนิคมอุตสาหกรรม และต้องเข้าใจวิถีชาวบ้านด้วย ยืนยัน 13 ธ.ค. 64 นี้ “จะนะรักษ์ถิ่น” ไปทำเนียบฯ ทวงสัญญาจากรัฐบาลอีกครั้ง ขณะที่ “ไอติม” เผยดีใจที่ผู้คนตื่นตัวเรื่อง รธน. มากขึ้น ตั้งเป้าขั้นต่อไปคือการชวนตั้งคำถามว่าอยากได้อะไรจาก รธน.ฉบับใหม่
วันนี้ (10 ธันวาคม 2564) กลุ่ม People Go Network อันประกอบไปด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่มสมัชชาคนจน และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จัดกิจกรรมเสวนาภายใต้ชื่อ “People Go Fece’tival ราษฎร์ธรรมนูญ” เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยจัดขึ้นที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 17:00 – 20:00 น.
ภายในกิจกรรมมีการแบ่งกลุ่มเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในแต่ละประเด็น เช่น สิทธิเสรีภาพ, สิ่งแวดล้อม, ความเหลื่อมล้ำ และการเมืองสร้างสรรค์ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) และนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ร่วมวงเสวนาด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- "ทีเส็บ" และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงรายหลังวิกฤตน้ำท่วม
- ททท.เตรียมเปิดตัวการแข่งขันวิ่งเทรลไตรบูรพาซีรีย์ 4 สนาม 3 จังหวัดภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว
- ครัวคุณต๋อยยกทัพ บุกขอนแก่น จับมือศูนย์การค้าเซ็นทรัล ขอนแก่น ขนร้านอาหารชื่อดังนับร้อย มาเสิร์ฟสายกิน 11 วันเต็ม 14 - 24 พ.ย.นี้
นอกจากนี้ยังมีการออกบูธของแนวร่วมในเครือข่าย เช่นเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่มีการตั้งซุ้ม “ธรรมนูญจะนะ” นำเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่ถูกเขียนบนผ้าใบมาจัดแสดงพร้อมการสาธิตทำว่าวโดยเยาวชนลูกหลานคนจะนะ กลุ่มสมัชชาคนจนที่มีการจัดแสดงแนวคิด “รัฐธรรมนูญฉบับคนจน” ที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ อันรวมไปถึงประเด็นด้านเกษตร แรงงาน ชุมชน และรัฐสวัสดิการ รวมไปถึงคณะ ครช. ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานสามารถแสดงความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบของตนได้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้เห็นความตื่นตัวของประชาชนในการศึกษาและอยากมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในประเด็นเสรีภาพ การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ และระบบโครงสร้างสภา สิ่งที่ทำในวันนี้คือการชวนให้ทุกคนปรับมุมมองจากการโฟกัสที่ปัญหา มาโฟกัสถึงสิ่งที่อยากได้ เพราะบางครั้งอาจมีคนที่เห็นปัญหาตรงกัน แต่แนวทางที่อยากเห็นอาจแตกต่างกัน จึงอยากให้ประชาชนได้ร่วมจินตนาการถึงเนื้อหาที่อยากจะเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในวงเสวนา “สิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” นายพริษฐ์ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น การเข้าถึงการรักษาและดูแลสุขภาพจิต ที่มีปัจจัยเรื่องค่าบริการที่ยังสูง รวมไปถึงค่านิยมในสังคมที่ยังอคติต่อผู้เข้ารับการดูแลสุขภาพจิต หรือการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากร ดังนั้นจึงควรพัฒนาเพื่อเอื้อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ขณะที่นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ร่วมเสวนาโดยสะท้อนถึงความผิดหวังที่รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม จากการถูกสลายชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพียงเพราะออกมาเรียกร้องสัญญาที่รัฐบาลเคยลงนาม MOU ชะลอการดำเนินงานโครงการนิคมจะนะ และขอให้ศึกษาผลกระทบใหม่ แต่กลับพบว่ามีการเคลื่อนไหวของโครงการอยู่เรื่อย ๆ ซ้ำยังถูกนายกฯ และรองนายกฯ ตอบคำถามผ่านสื่อมวลชนในลักษณะปัดความรับผิดชอบต่อการทำ MOU ฉบับดังกล่าว
นายรุ่งเรือง ยังเล่าถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่อำเภอจะนะ ว่ายังมีชาวบ้านหลายคนที่ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองแม้จะอาศัยอยู่มาตั้งแต่กำเนิด แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วกลับพบว่านายทุนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นหลักพันไร่อย่างรวดเร็ว พร้อมแสดงเจตจำนงการทำประมงพื้นบ้าน เป็นธุรกิจของครอบครัว ไม่ใช่การใช้แรงงานเด็ก แต่เป็นการสอนให้ลูกหลานเรียนรู้การประกอบอาชีพประมงเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายรุ่งเรือง ยืนยันว่าตนและเครือข่าย ไม่ได้ขัดขวางการทำนิคม แต่ขอให้ภาครัฐฟังเสียงประชาชนในฐานะเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เพียงเสียงของนายทุนอย่างเดียว ทั้งยังชี้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากล่างขึ้นบน แต่สิ่งที่เป็นจริงกลับเป็นลักษณะบนลงล่าง เพราะผู้มีอำนาจไม่ได้ลงมาศึกษากับตัวเอง แต่เกิดจากการตัดสินใจในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ
ในขณะที่วงเสวนา “สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม” ซึ่งมีนางสาวไครียะห์ร่วมในวงเสวนา ได้กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในอำเภอจะนะ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีกิจกรรมให้ทำได้อย่างสุขสบาย ไม่ต้องรีบร้อนหรือฟุ้งเฟ้อ การเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป และเกิดการชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่ที่จะต้องแลก โดยทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้รวบรวมข้อมูลพันธุ์ปลาในทะเลซึ่งมีถึง 157 ชนิด เช่นฉลามวาฬ โลมาสีชมพู เต่าทะเล ฯลฯ อันสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่
นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ยังกล่าวอีกว่าการพัฒนาที่ดีควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมและออกแบบได้เองว่าต้องการอะไร ไม่ใช่การที่ภาครัฐโยนแนวคิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วบอกว่านี่คือการพัฒนา เพราะไม่มีใครที่เข้าใจท้องถิ่นนั้นได้ดีกว่าคนในพื้นที่ นิยามการพัฒนาของตนคือการทำให้ผู้คนมีความสุขและความยั่งยืน ฉะนั้นการพัฒนาจึงไม่ควรยึดติดกับนิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียว หากวันหนึ่งเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลของจะนะอาจจะไม่มีให้คนรุ่นหลัง รวมไปถึงคนในเมืองได้เห็นอีก
ในขณะเดียวกันก็ได้มีผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ควรคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ควบคู่กับการกำหนดอนาคตของตนเองได้ แต่สิ่งที่รัฐปฏิบัติต่อโครงการนิคมจะนะคือการโยนนโยบายโครงการจากส่วนกลาง รวมทั้งขาดการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังรอบด้าน ว่าควรจะเปลี่ยนจากพื้นที่ธรรมชาติ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือไม่ และยังสะท้อนให้เห็นถึงการผูกขาดอำนาจของรัฐส่วนกลางโดยประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมพร้อมยังกล่าวถึงการที่รัฐขอให้ประชาชนช่วยกันเสียสละ ในขณะที่นายทุนและนักการเมืองบางกลุ่มพยายามกว้านซื้อที่ดินออกกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเองถึงพันไร่เพื่อเตรียมสร้างโรงงาน ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นการฉ้อฉลในเชิงนโยบายหรือไม่
ซึ่งนางสาวไครียะห์ ประกาศพร้อมผลักดันให้รัฐทบทวนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และขอให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยหวังเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และอากาศที่สดใสของพื้นที่อำเภอจะนะ โดยในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะเคลื่อนขบวนจากหน้าที่ทำการ UN ไปที่ประตู 1 หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลอีกครั้ง
ภายหลังจากวงเสวนาจบลงในเวลา 19.00 น. ก็ได้มีการแสดงดนตรีจากศิลปินวงไววิทย์, Performance Arts โดย วิชชยุทธ ตั้งไพบูลย์ ปิดท้ายด้วยการแสดงโชว์จากวง Rap Against Dictatorship ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 21.00 น.โดยประมาณ
ข่าวและภาพโดย ฐณะวัฒน์ ณ รังษี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: