กทม-โต้ World Monument Fund ที่ระบุว่าโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำทำให้เจ้าพระยามีความเสี่ยงถูกทำลาย ชี้ดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม
หลังจากองค์กร World Monument Fund ออกมาเปิดเผยว่าแม่น้ำเจ้าพระยากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกทำลายจากการพัฒนาโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัฐบาลวางแผนจะสร้างทางเลียบล้ำลงไปในแม่น้ำ กว้างข้างละ 10 เมตร และยาวตลอดแนวลำน้ำ 2 ฝั่ง รวมระยะทางทั้งสิ้น 57 ก.ม. พร้อมเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่แสดงความเห็นของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องไม่มีการก่อสร้างใดๆ ลงในแม่น้ำก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน หรือการออกแบบดีไซน์พื้นที่ให้เหมาะสมนั้น
นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ระบุว่า กทม.ตระหนักดีว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักและสายสำคัญของประเทศไทย เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่มีบทบาทสำคัญสืบเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย แต่จากการเติบโตทางกายภาพอย่างรวดเร็วของบ้านเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะทางที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สภาพของแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวลนั้นมาจากปัญหาต่างๆ เช่นมีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำ การทิ้งขยะลงแม่น้ำ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ริมแม่น้ำได้ถูกยึดครองใช้ประโยชน์โดยเฉพาะประโยชน์ทางธุรกิจจากคนส่วนน้อย ทั้งที่แม่น้ำเจ้าพระยาควรเป็นของคนไทยทุกคนที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกทม. ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเท่าเทียม แก้ไขปัญหาการรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำโดยผิดกฎหมาย และจัดระเบียบพื้นที่ ฟื้นฟูและเพิ่มคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมและพื้นที่สำคัญด้านประวัติศาสตร์ของประเทศ
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ระบุว่าการดำเนินงานได้มีการศึกษาความเหมาะสมในทุกด้าน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบรูปแบบโครงการ มีการทบทวนผลการศึกษา แผนพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท กฎหมาย ระเบียบ และผังเมืองกรุงเทพมหานครให้ครบถ้วน สำหรับนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และการพัฒนาในอนาคต ตลอดจนมีการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงการในด้านต่างๆ อีกทั้งได้มีการประชุมกลุ่มย่อยและสัมภาษณ์เชิงลึกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับชุมชน หน่วยงานราชการ สถานประกอบการในพื้นที่โครงการมาโดยตลอด มากกว่า 400 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาจัดทำแผนแม่บทและรูปแบบโครงการที่มีความเหมาะสม รวมทั้งได้ดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 จำนวน 3 ครั้งและได้สรุปผลการศึกษา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ระบุว่าจากการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกทม. ทั้งหมดพบว่าบริเวณที่เหมาะสมจะดำเนินงานโครงการในระยะแรก อยู่ในช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางฝั่งละ 7 กม. รวมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวมประมาณ 14 กม. เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมด้านกายภาพ การเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งต่างๆ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ สืบสานวิถีชิวิตที่มีมาในอดีตและพัฒนาให้มีความยั่งยืนในอนาคต และได้ออกแบบรายละเอียดพร้อมจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อการก่อสร้างโครงการในระยะแรก โดยรายละเอียดโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย ทางเดินและทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยาความกว้างประมาณ 10 ม. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะและเส้นทางการเข้าถึง ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ
กทม.มีความจำเป็นต้องริเริ่มการพัฒนา โดยจะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้านรวมทั้งต้องสร้างเข้าใจและเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กทม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมือง มีเป้าหมายหลักคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งความสะดวกในการเดินทางด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรในชุมชนริมแม่น้ำให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางราง ตลอดจนเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: