X
เปรมชัย กรรณสูต

ยันถอนแจ้งความ”เปรมชัย”ทารุณกรรมสัตว์ – เปิดจุดบอด กม.ทำไมไม่คุ้มครอง?

หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ยืนยันถอนแจ้งความ นายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทย  เหตุเพราะไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์  ด้านเลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย  เผย กฏหมายมีจุดบอด ขาดการนิยามให้ชัดเจน

เสือดำ

นายณรงค์ชัย สังวรวงศา  หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ยืนยันว่า มีการถอนแจ้งความข้อหาทารุณกรรมสัตว์กับนายเปรมชัย กรรณสูต เนื่องจากนิติกรของหน่วยงานตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557  ในมาตรา 3

โดยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. นิยามคำว่าสัตว์   หมายถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน ใช้เป็นพาหนะ  ใช้เป็นเพื่อน  ใช้เป็นอาหาร และใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่น  และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

พระราชบัญญัติสัตว์ มาตรา 3_

แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีการประกาศกำหนดใดๆทั้งสิ้น ทำให้การฆ่าเสือดำ ไม่เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ตาม พ.ร.บ.นี้  ซึ่งหัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่จำเป็นต้องทำตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในภายหลัง

ด้าน พ.ต.อ.ชาตรี บุญศรี คณะพนักงานสอบสวนชุดพิเศษ ที่ตำรวจภูธรภาค 7 แต่งตั้งขึ้นมาทำคดีนายเปรมชัย ยืนยันว่า มีการถอนแจ้งความจริง เนื่องจากไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ แต่เพื่อความชัดเจน ทางพนักงานสอบสวน ได้ส่งเรื่องไปสอบถามจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้รายงาน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทราบเมื่อวานนี้แล้ว และจะเร่งรัดขอคำตอบในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ทำให้ขณะนี้การแจ้งข้อหาทารุณกรรมสัตว์กับนายเปรมชัย จะต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม นายเปรมชัยกับพวก ยังจะต้องมาพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 5 มีนาคมนี้  เพราะแม้จะไม่มีข้อหาทารุณกรรมสัตว์ แต่ยังมีข้อหาและประเด็นอื่นที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม

เปิดจุดบอด กม.ทารุณกรรมสัตว์

โรเจอร์ โลหะนันท์

ทำไม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ ถึงไม่คุ้มครองเสือดำในคดีนี้?   นายโรเจอร์ โลหะนันท์  เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ 77 ข่าวเด็ด  เปิดเผยว่าได้รับการประสานจากหัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรีแล้ว  และยอมรับว่า กฏหมายฉบับนี้ ยังมีปัญหา เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ก.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่กำหนดนิยามของสัตว์ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ  ซึ่งมีการบ่ายเบี่ยงผัดผ่อนมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่กฏหมายเริ่มบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ให้ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฏหมาย และถือเป็นจุดบอดใหญ่ของกฏหมายฉบับนี้

นายโรเจอร์ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ไทยมีกฏหมายคุ้มครองป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ แต่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่  อย่างเช่นกรณีของเสือดำที่ถูกล่า  หากมีการเพิ่มคำนิยามว่า “หมายรวมถึง สัตว์ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการดูแลของมนุษย์”  สัตว์ที่เป็นสัตว์ป่า ไม่ว่าจะอยู่ในบัญชีคุ้มครองหรือไม่ จะได้รับการคุ้มครองดูแลจากกฏหมายฉบับนี้ทั้งหมด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน