ผกก.สภ.ทองผาภูมิ สั่งลงโทษภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวน ที่รับแจ้งความข้อหาทารุณกรรมสัตว์กับนายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทย โดยให้เหตุผลว่า รับแจ้งความโดยไม่ตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่
มีรายงานว่า พ.ต.อ.วุฒิพงษ์ เย็นจิตร ผกก.สภ.ทองผาภูมิ ทำหนังสือคำสั่ง ลงวันที่ 28 ก.พ.2561 เรื่องลงโทษภาคทัณฑ์ โดยคำสั่งระบุว่า ตามที่นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี มาแจ้งความเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2561 ให้ดำเนินคดีนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวก ในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร และได้รับคำร้องไว้
แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 นายณรงค์ชัยมาพบ ร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวน พร้อมกับให้ปากคำเพิ่มเติมว่า ไปตรวจสอบคำนิยามของคำว่าสัตว์ตามมาตรา 3 แล้ว ปรากฏว่ารัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติ ว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด จึงขอถอนคำร้องทุกข์ไป
เหตุนี้จึงถือว่า ร.ต.อ.สุมิตร พนักงานสอบสวน บกพร่องต่อหน้าที่ เนื่องจากรับคำร้องโดยไม่ตรวจสอบข้อกฏหมายให้แน่ชัด ว่าเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่ จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 87 ประกอบกับกฏ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจ ให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ร.ต.อ.สุมิตร
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งผู้ที่ถูกลงโทษ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร. หรือหากจะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผกก.สภ.ทองผาภูมิ รายงานเรื่องนี้ให้กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.รับทราบแล้ว
เปรมชัยส่อเจออีกข้อหาหนัก “ครอบครองงาช้างผิดกฏหมาย”
ส่วนการประชุมคณะกรรมการติดตามคดีล่าสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก ซึ่งประชุมเมื่อวานนี้เป็นนัดแรก ได้ข้อสรุปในประเด็นสำคัญคือ จากการตรวจสอบหลักฐานและทางนิติวิทยาศาสตร์ ยืนยันได้ว่า ซากเสือดำที่พบ ถูกนายเปรมชัยกับพวกล่าอย่างแน่นอน , ปืนที่นายเปรมชัยกับพวกถือเข้าไปในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า ก็เป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ยิงเสือ เพราะปลอกกระสุนปืนที่พบในตัวเสือดำ เป็นลูกปรายจากปืนลูกซอง 8 เม็ด และปลอกกระสุนปืนที่พบบริเวณใกล้เคียง ตรงกันกับปืนของนายเปรมชัยกับพวก
รวมทั้งพบว่า นายเปรมชัยกับพวก ฆ่าเสือดำตัวเมียเพื่อทำซุปกิน เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่า ซึ่งมีการเตรียมการเข้ามาอย่างชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการติดตามคดีฯ มั่นใจว่าเป็นข้อหาที่สามารถเอาผิดนายเปรมชัยได้แบบดิ้นไม่หลุด
ส่วนการตรวจสอบดีเอ็นเองาช้างที่ตรวจยึดได้จากบ้านของนายเปรมชัย จำนวน 4 กิ่ง หรือ 2 คู่ เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานผลตรวจสอบดีเอ็นเอ พบว่าเป็นงาช้างจากแอฟริกา ถือเป็นการครอบครองงาช้างผิดกฏหมาย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และกฏหมายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส หลังจากนี้จะมีการแจ้งความเพิ่มเติมในข้อหาครอบครองงาช้างผิดกฏหมาย
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ที่นำงาช้างมาขึ้นทะเบียนกับกรมอุทยานฯ คือ นางคณิตา วิทยานันท์ ภรรยาของนายเปรมชัย ทางกรมอุทยานฯ จึงจะแจ้งให้นางคณิตา นำหลักฐานการได้มาของงาช้าง ที่อ้างว่าเป็นงาช้างบ้าน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งตาม พ.ร.บ.งาช้าง 2558 หากพบว่างาช้างที่นำมาขึ้นทะเบียนไม่ใช่งาช้างบ้าน กรมอุทยานฯต้องทำหนังสือไปยังผู้ครอบครอง ให้ส่งมอบงาช้างเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่ยินยอมจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท และอาจแจ้งความในข้อหาแจ้งข้อมูลเท็จในการขึ้นทะเบียนงาช้างด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: