ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดเพชรบุรี มีมติอนุมัติงบกลาง กว่า 5 พันล้านบาท ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ พร้อมฝากประชาชนคิดหาแนวทางแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณ ที่ต้องใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ในส่วนของงบกลางปี 2561 จำนวน 5,186 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เนื่องจากที่ผ่านมา เงินสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะงบผู้ป่วยใน ที่ยังขาดงบประมาณอีก 4,186 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขของหน่วยบริการที่อยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม 1,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยระบุว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีงบประมาณสำหรับดูแลผู้ป่วยในไม่เพียงพอ จำเป็นต้องของบประมาณเพิ่ม โดยประมาณการณ์ว่า งบประมาณที่ได้รับ จะนำมาจัดสรรเป็นค่าดุแลผู้ป่วยในคนละ 8,000 บาทต่อปี จากเดิม คนละ 7,000 บาทต่อปี ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลอยู่ได้โดยไม่ประสบปัญหา
ข่าวน่าสนใจ:
- มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย
- จนมุมเพราะไก่ชน!! ตำรวจบางละมุงวางแผนเหนือเมฆ หลอกแก๊งค์ค้ายานรกมาซื้อไก่ชน ก่อนตามรวบยกแก๊งค์ ยึดยาบ้าแสนเม็ด - ไอซ์ 1 กก. พร้อมรถ 2 คัน…
- นครพนม ทหารพรานสนธิกำลังยึดยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด! ตรวจพบฝิ่นดิบกว่า 3 กิโลกรัม ริมแม่น้ำโขง
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
โดยเมื่อปีงบประมาณ 2560 ครม.อนุมัติงบกลางปี จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเติมในระบบสาธารณสุข แก้ปัญหาสภาพคล่องของโรงพยาบาลในสังกัด เป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า เนื่องจากขณะนั้น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า ในการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเพชรบุรีวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเพิ่มเติมว่า ประชาชนพอใจกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่งบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการนี้ เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า มียอดการใช้งบประมาณในหลักประกันสุขภาพ 167,000 ล้านบาท ปี 2561 ต้องใช้งบประมาณ 178,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านบาท ในปี 2562 และปี 2563 ต้องใช้งบสูงถึง 207,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามอัตราจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น
โดยในหลายประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพคล้ายคลึงกับไทย ต้องล้มเลิกเพราะขาดทุนไปหลายแห่ง โดยหลายประเทศเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนเฉพาะบางโรคบางกลุ่ม ส่วนในประเทศไทยนั้น รายได้ของรัฐไม่เพิ่มขึ้น ภาษีที่เคยเก็บได้ก็ไม่เพิ่มจากเดิม และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ก็เก็บที่ 7% มานานมาก
พล.อ.ประยุทธ์ จึงฝากประชาชนช่วยกันศึกษา และทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าจะช่วยกันแบ่งเบาภาระในส่วนนี้อย่างไร หากยังต้องการระบบหลักประกันสุขภาพเช่นนี้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในด้านนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดจะขึ้นภาษีแต่ละประเทศ แต่จำเป็นต้องศึกษาว่าในหลายประเทศมีการเก็บภาษีอย่างไรและเท่าไหร่
ครม.เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ปรับหนักนายจ้าง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ไปแล้ว แต่ถูกท้วงว่ามีโทษรุนแรง จะต้องใช้มาตรา 44 พักการบังคับใช้ไป 4 มาตรา
โดยให้ปรับแก้ มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต จากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท เป็นตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พัน-5 หมื่นบาท
มาตรา 102 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เดิมปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน แก้เป็นปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน และใครทำผิดซ้ำซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่น-2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแก้ระบบอนุญาตในบางเรื่อง และยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับแก้โทษของนายจ้างให้หนักกว่าลูกจ้าง และห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ยจากแรงงานด้วย เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จนทำให้เกิดการค้ามนุษย์ ยกเว้นค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบอนุญาตและค่าหนังสือเดินทาง
ครม.อนุมัติมาตรการภาษีหนุนจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.สัญจร ยังเห็นชอบมาตรการทางภาษี สนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นำรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างของลูกจ้างที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการฯ มาหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่าของค่าจ้าง เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทนั้น และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน หรือหลังวันที่ 1 ม.ค.61 ถึง 31 ธ.ค. 62
ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่า มาตรการภาษีนี้ จะทำให้รัฐสูญรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสวัสดิการสังคม และการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: