หัวหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอจาก 9 คณะประสานงานในพื้นที่ ก่อนเดินหน้าพูดคุยกับกลุ่ม BRN เดือนมีนาคม
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี คณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะประสานงานระดับพื้นที่ เรื่องทิศทาง และการออกแบบ การขับเคลื่อนงานหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลตรี เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ซึ่งเป็นเลขานุการพูดคุยสันติสุข ชี้แจงการปฏิบัติงาน และการดำเนินการร่วมกันเกี่ยวกับการพูดคุยสันติสุขกับคณะประสานงานในพื้นที่ ทั้ง 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มงานความมั่นคง และองค์กรภาครัฐ,กลุ่มงานศาสนา และวัฒนธรรม, กลุ่มงานการศึกษา, กลุ่มงานวิชาการ, กลุ่มงานพัฒนาชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก, กลุ่มงานเด็ก เยาวชน และสตรี, กลุ่มงานสื่อมวลชน การสื่อสาร และเทศโนโลยี, กลุ่มงานยุติธรรม, และกลุ่มงานปกครองท้องที่และท้องถิ่น
โดย พลตรี เกรียงไกร ศรีรักษ์ รอง ผอ. รมน ภาค 4 เลขานุการร่วมคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพันเอกชลัช ศรีวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ได้กล่าวทบทวน บทบาท ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ของคณะประสานงานระดับพื้นที่ และลำดับการคุยสันติภาพ สู่การพูดคุยสันติสุข รวมทั้งชี้แจงการปฏิบัติแนวทางการดำเนินการข้อมูลของกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ผ่านมา
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ตนเองและคณะได้ลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรกนี้ ได้พบกับหลายกลุ่ม หลายองค์กร ทั้งผู้นำศาสนาฝ่าย NGOs และภาคประชาสังคมอื่นๆ ในกระบวนการพูดคุยนี้จะขับเคลื่อนได้ ก็ต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมทั้งหมดนี้ มารับฟังข้อเสนอทั้งหมดและที่ได้มานี้ มีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นการมีส่วนร่วมของทุกคนในการสร้างความปลอดภัย ในพื้นที่สาธารณะ และการกระจายอำนาจการเมืองการปกครอง การดูแลคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมและอื่นๆอีก ซึ่งอันนี้จะนำประมวลและให้ไปสู่การพูดคุยต่อไป
“การพูดคุยครั้งหน้าจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ยังคงมีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN เป็นหลัก แต่ไม่ทิ้งกลุ่มอื่นๆ ส่วนสำหรับการพูดคุยครั้งหน้านี้จะมีการต่อสายกับกลุ่มอื่นเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ต้องอยู่ที่การตกลง ข้อพิจารณา ระหว่างกัน สำหรับความกังวล นั้นมีอยู่บ้าง ต้องระวังไม่ให้การพูดคุยนั้นสะดุด ซึ่งปัจจุบันนี้ทุกคนทราบดีแล้วว่ารัฐบาลได้บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมั่นใจว่าในเมื่อเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ตนเองก็จะทำ หน้าที่ให้ดีที่สุด ให้มีความต่อเนื่อง การพูดคุยนั้นจะใช้หลักของความจริงใจ ความเข้าใจ การพูดจากันเพื่อให้เกิดสันติสุขต่อสังคมในภาพรวม ในรายละเอียดใดๆนั้น ในขั้นต่อไปยังไม่มีการตั้งธงอะไร ในทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะใช้ข้อตกลงอันใดในการพูดคุยต่อไป ให้แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมในการพูดคุย และยังคงให้ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม ทั้งนี้การพูดคุยทั้งหมดนี้จะต้องให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ส่วนจะให้มีคนนอกเป็นผู้สังเกตการณ์หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน แต่อย่างไรก็ตามหากมีความก้าวหน้าจะชี้แจงให้ฟังอีกครั้งมั่นใจว่าการพูดคุยทั้งหมด ระหว่างหัวหน้าพูดคุยกับกลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างนั้นจะต้องเปิดเผยและเป็นข้อเท็จจริงที่มาจากประชาชนทั้งหมด” พลเอก วัลลภ กล่าว
ด้านนายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ในการรวบรวมข้อเสนอจากองค์กรภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 32 องค์กร ที่ได้มาร่วมกันทำข้อเสนอ ในส่วนของสมัชชาสันติภาพ ก็จะมีหลักๆอยู่ 3 เรื่องคือ สันติภาพภายในพื้นที่ มิติการพัฒนา และความยุติธรรม ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ประเด็นที่น่าสนใจคือกลุ่มพี่น้องชาวไทยพุทธที่มีการนำเสนอในเรื่องของข้อเสนอของอดีตท่านจุฬาราชมนตรี ในมิติการปฎิบัติของมุสลิม ซึ่งพี่น้องชาวไทยพุทธตอบรับในเรื่องนี้มาก ในส่วนของกระบวนการสันติภาพ ทุกคนมีความคิดตรงกันในเรื่องของความปลอดภัยในพื้นที่ ที่มีความเชื่อมโยงกันกับการพูดคุยในปัจจุบัน ที่บอกว่ามีการพูดคุยกับ BRN เมื่อเชื่อว่า BRN เป็นตัวจริงแล้วก็เชื่อว่าความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะมาก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนประเด็นอื่นก็จะเคลื่อนต่อไปได้ ถ้าพื้นที่ปลอดภัย
“ในการพูดคุยครั้งนี้ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า BRN จะมาขึ้นโต๊ะพูดคุย ซึ่งคงจะไม่มีใครพูดว่าเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม มิติการพูดคุยน่าจะเดินต่อไปได้ การพูดคุยก็คงจะต้องมีการวางขั้นตอน หรือโรดแม็พ และคณะติดตามประเมิณผลการพูดคุยก็มีความจำเป็น จะได้รู้ว่าการพูดคุยติดขัดในเรื่องใด ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคม ก็จะต้องเป็นส่วนที่หนุนเสริมกระบวนการพูดคุยจากพื้นที่” นายรักชาติ กล่าว
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องปัญหาที่พบ ก็คือพี่น้องคนไทยพุทธในพื้นที่ไม่ค่อยที่จะสนใจในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะแค่รับฟังข่าวสาร แต่ไม่ได้สนใจประเด็นที่จะต้องมานั่งถกเถียงกัน ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาโดยเดินสายไปยังชุมชนพี่น้องชาวไทยพุทธ เพื่อพูดคุย และเชื่อมต่อกับกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกัน ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในครั้งนี้ตนเองมองว่าน่าจะไปได้ดี แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคบ้าง เนื่องจากเท่าที่ทำงานมานาน ก็จะรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเขาต้องการเอกราช แต่เมื่อเวลาผ่านมาเส้นทางที่จะเดินไปสู่เอกราชนั้น มันก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จะทำอย่างไรให้เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ไปถึงกลุ่ม BRN ได้ ในช่วงที่ผ่านมา สามารถส่งข้อมูล ส่งข้อเสนอ ส่งข้อเรียกร้องของกลุ่มคนไทยพุทธไปยังกลุ่มมาราปัตตานีได้ เพราะกลุ่มมาราปัตตานี มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ในส่วนของกลุ่ม BRN นี้ทุกคนทราบกันดีว่าเป็นองค์กรลับ องค์กรปิด ก็คงจะต้องรอถ้ามีการเดินหน้าการพูดคุย BRN ก็จำเป็นที่จะต้องเปิดรับข้อเรียกร้องจากพื้นที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: