ศอ.บต.เตรียมเสนอรัฐบาลขอเพิ่มงบประมาณ 65 ล้านบาท ให้กับองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการดึงภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งทางรัฐบาล และผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม ที่เป็นองค์กรของผู้ที่มีจิตอาสา และมีความตั้งใจในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยได้ให้การยอมรับ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดทำโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2560 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
“ซึ่งที่ผ่านมานั้นพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากถึง 488 องค์กร ที่ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 148 โครงการ เป็นงบประมาณมากกว่า 100 กว่าล้านบาท ซึ่ง ศอ.บต.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพียง 50 ล้านบาท จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด ทาง ศอ.บต.จำต้องมีความจำเป็นในการแต่งตั้งคณะกรรมการในการกลั่นกรองโครงการของภาคประชาสังคม ที่นำเสนอมายัง ศอ.บต.” นายปรีชา กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- เปิดบริการแล้ว MFU Wellness Center มฟล. ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- ชาวบ้านยังผวา บ้านสไลด์ตกน้ำบางปะกงตามกัน ไม่กล้าออกไปทำกิน
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
ผู้อำนวยการสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ได้ทำการพิจารณากลั่นกรองให้องค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 223 องค์กร เพื่อเข้ามาร่วมดำเนินการ โดยแยกเป็น ด้านการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน การอำนวยความยุติธรรม การสร้างความเข้าใจ ด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน งานด้านการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งโดยสันติวิธี งานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน งานการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และ งานการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม และจากการติดตามประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมมีความพึงพอใจ ในรูปแบบการแก้ไขและพัฒนา พร้อมทั้งต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล จากเดิมสนับสนุนให้กับภาคประชาสังคม 50 ล้านบาท เป็น 65 ล้านบาท เพื่อให้พอเพียงกับองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
“และทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ที่เป็นของภาคประชาสังคม ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ทั้งในเขตเมือง และรอบนอก และผลการดำเนินการก็พบว่า องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนในการร่วมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายปรีชา กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: