กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงกรณีคดีหาดวาสุกรี ยืนยันพร้อมส่งเสริมการแต่งกายชุดมลายู และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมของทุกศาสนายืนยันฟ้องแกนนำจัดงานฯ เนื่องจากกิจกรรมฯ ที่จัดขึ้น มีเนื้อหาลักษณะยุยง ปลุกปั่นเยาวชน
วันนี้ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.50 น. ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แถลงข่าวชี้แจงกรณี ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อดำเนินคดีกับคณะแกนนำ ในการจัดงานและร่วมทำกิจกรรมที่มีเนื้อหา รูปแบบ ในลักษณะของการยุยงปลุกปั่นให้เยาวชนร่วมกันปฏิวัติกอบกู้เอกราช รัฐปาตานี โดยสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ที่หาดวาสุกรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า จากการตรวจสอบด้วยการสังเกตการณ์และตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์พบว่า รูปแบบการดำเนินกิจกรรมและเนื้อหาการแสดงออกที่อยู่ในความควบคุมของคณะแกนนำผู้จัดนั้น มีเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น มีการแสดงธงของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม BRN รวมทั้งมีการกล่าวถ้อยคำบนเวทีอันมีลักษณะว่ามีศัตรูมาทำลายชาติมลายูปาตานีทำให้เสียเอกราช เยาวชนต้องรวมตัวกันทำให้หมดไปซึ่งการถูกกดขี่ข่มเหง การกล่าวถ้อยคำว่า วันรายอที่ 3 เป็นวันเยาวชนแห่งชาติปาตานี รวมทั้งกิจกรรมร้องเพลงปลุกใจ มีเนื้อหาทำนองให้เยาวชนร่วมกันปฏิวัติกอบกู้เอกราชรัฐปาตานีคืนมา ซึ่งพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดอาญา ดังนั้นคณะพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นควรส่งฟ้อง นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ กับพวกรวม 9 คน ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือหรือด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร (3)เพื่อให้ ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดินมาตรา 209 ความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ มาตรา 210 ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ กรณีการชุมนุมฝ่าฝืนมาตรการการป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน แต่ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ขอเลื่อนส่งตัวต่อศาลมาเป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดีดังกล่าวพยายามยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอัยการสูงสุด เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งของอัยการ คดีอาญา 4 ภาค 9 ที่มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ กับพวก เช่นเดียวกับความเห็นของพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง
“อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอเรียนให้ทราบว่า ตามที่มีแนวร่วมกลุ่มแกนนำของผู้จัดกิจกรรมพยายามชี้นำบิดเบือนว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการฟ้องแกนนำทั้ง 9 ราย ในข้อหา จัดกิจกรรมสวมชุดมลายูรวมถึงการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆในพื้นที่สาธารณะของประชาชน ในพื้นที่นั้น ข้อความดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามส่งเสริมอัตลักษณ์ การแต่งกาย ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดงานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในงานนโยบายสำคัญของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อันจะทำให้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเข้าใจ จะทำให้สันติสุขกลับคืนมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว
โดยพันเอก เกียรติศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดความไม่เข้าใจจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ทางท่านผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ลงพื้นที่ไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับทางผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา รวมทั้งกลุ่มนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อที่จะให้ช่วยกันชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ในส่วนที่ไม่ได้ถูกบิดเบือน และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามพี่น้องประชาชนในการสวมใส่ชุดมลายูถิ่น ตามที่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มคนบางกลุ่มแต่อย่างใด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: