กรุงเทพฯ – โรงพยาบาลเมดพาร์ค และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มอบนวัตกรรมไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินติด ให้กับผู้ป่วยที่เข้าอบรมการใช้ไม้เท้าดังกล่าวในวันนี้ (26 ตุลาคม 2564) โดยก่อนหน้านี้ ได้ส่งมอบไปช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแล้วกว่า 2,000 ด้าม
วันนี้ (26 ตุลาคม 2564) โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำเสนอนวัตกรรมและการรักษาเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันในงานแถลงข่าว “ไม้เท้าเลเซอร์ นวัตกรรมไทยเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน” นำโดย ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค ผู้คิดค้นและพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน พร้อมด้วย พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาร่วมให้ข้อมูลเรื่อง การฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินติด พร้อมมอบและอบรมการใช้ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทานให้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า เราได้มีการมอบไม้เท้าเลเซอร์แล้ว ประมาณ 2,000 ด้าม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผ่านหน่วยงานรัฐ องค์กรการกุศลและผู้ที่สนใจ และยังมีการแจกอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้ป่วยลดปัญหาการเดินติดและเพิ่มความมั่นคงในการก้าวเดิน สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันนั้นหากพบเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็สามารถชะลอการพัฒนาของโรคได้ ทั้งนี้การรักษาแบบองค์รวม (Multidisciplinary care) เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับทีมสหวิชาชีพมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงการทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน การออกเสียง ฝึกกลืน การดูแลปัญหาการนอนหลับ การปรับที่อยู่อาศัย การดูแลด้านจิตใจและพุทธิปัญญา ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
ข่าวน่าสนใจ:
ส่วน พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า สำหรับปัญหาการเคลื่อนไหวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยพาร์กินสัน การฟื้นฟูกายภาพบำบัดโดยการยืดคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดความแข็งเกร็ง ฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยใช้อุปกรณ์ช่วยกะระยะ เช่น การขีดเส้นไว้ที่พื้น ก้าวตามจังหวะเสียง หรือใช้ไม้เท้าที่ติดตั้งแสงเพื่อใช้ในการฝึกเดิน (Visual Cues) สามารถช่วยลดปัญหาการเดินติดขัด ช่วยให้ผู้ป่วยเดินด้วยตนเองได้ดีขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการสอนใช้อุปกรณ์ สอนการเตรียมยืดกล้ามเนื้อหากมีอาการแข็งเกร็ง และซ้อมเดินกับนักกายภาพบำบัดก่อนจนเกิดความมั่นใจ จากนั้นจึงจะสามารถฝึกต่อเองที่บ้านได้
นายแพทย์พงพัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และมีความประสงค์ที่จะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ เพื่อผลักดันและสนับสนุนการกระจายนวัตกรรมไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน ที่ผ่านการคิดค้นและผลิตโดยคนไทย เพื่อตอบโจทย์ของผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินติดหรือก้าวขาไม่ออกได้อย่างแท้จริง เพราะโรคนี้ต้องการการดูแลและการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ทางโรงพยาบาลจึงได้มีการจัดงานแถลงข่าวและเชิญญาติและผู้ดูแลของผู้ป่วยแต่ละท่านเข้าร่วมด้วย
โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 7 ถึง 10 ล้านคน และข้อมูลจากสภากาชาดไทยชี้ว่าในประเทศไทย สถิติของการเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 435 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยที่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ ร้อยละ 1 ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน และมีปัญหาในการเดินติด (Freezing of Gait) โดยอาการแสดงคือ มีการเดินติดขัดหรือเดินซอยเท้าถี่ และเมื่อร่วมกับปัญหาการทรงตัวที่ไม่ดีในผู้สูงอายุก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้
จึงได้มีการคิดค้น ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน ซึ่งประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นโดย ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค และทีมผู้วิจัย เพื่อช่วยแก้ไขอาการเดินติดในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยอาศัยแสงเลเซอร์สีเขียวที่ปล่อยออกมาจากไม้เท้า เป็นสิ่งชี้นำกระตุ้นทางสายตา (Visual Cues) ให้ผู้ป่วยก้าวเดิน
ผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงอายุท่านใดที่มีความเดือดร้อน สามารถติดต่อศูนย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-090-3114 เพื่อขอรับไม้เท้าเลเซอร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่ขอรับต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มพาร์กินสันหรืออาการใกล้เคียง โรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคโพรงน้ำในสมองโต โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอื่นๆ ที่มีปัญหาการเดินติดขัด และผู้ป่วยต้องยินดีให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อยอดในการรักษา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: