ผลนิด้าโพล ชี้ประชาชนเกือบ 75% “เห็นด้วย” กับกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใน รธน. 60 โดยส่วนใหญ่เชื่อไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบจากกติกานี้ ส่วนอีกเกือบ 50% จะเลือกพรรคเดียวกันทั้ง 2 ใบ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใครได้เปรียบ” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ 97.0%
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.80 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.54 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.50 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้
ตัวอย่าง ร้อยละ 30.50 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.52 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.30 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.67 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.49 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 8.80 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.51 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.70ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.84 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.64 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.75 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 18.66 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.19 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.39 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.48 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 6.15 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.24 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.89 ไม่ระบุรายได้
ตัวอย่าง ร้อยละ 94.61 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.19 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.21 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 18.66 สถานภาพโสด ร้อยละ 76.48 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.57 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.29 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 5.54 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 16.54 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.12 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.47 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 26.33 อายุ 60 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 49.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.99 เป็นเพศหญิง
ส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” กับกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่า
- ส่วนใหญ่ 49.62% ระบุว่า เห็นด้วยมาก
- รองลงมา 24.66% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
- 15.02% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
- 6.45% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
- 3.72% ระบุว่า อย่างไรก็ได้
- 0.53% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง พบว่า
- ส่วนใหญ่ 39.38% ระบุว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบ
- รองลงมา 23.75% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
- 22.00% ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
- 18.36% ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ
- 4.86% ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
- 1.29% ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย
- 2.28% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกล้า พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยภักดี และพรรคประชาชาติ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่จะทำให้มีพรรคชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. เกินครึ่งของสภา (มากกว่า 250 คน) จากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่า
- ส่วนใหญ่ 45.67% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้
- รองลงมา 26.71% ระบุว่า เป็นไปได้มาก
- 11.08% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
- 8.50% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 8.04 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวโน้มการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่า
- ส่วนใหญ่ 46.59% ระบุว่า บัตรทั้ง 2 ใบ เลือกพรรคเดียวกัน
- รองลงมา 27.84% ระบุว่า บัตร 2 ใบ เลือกต่างพรรคกัน
- 17.83% ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ
- 4.02% ระบุว่า บัตรทั้ง 2 ใบจะไม่เลือกใคร (Vote NO)
- 2.58% ระบุว่า บัตรใบหนึ่งจะไม่เลือกใคร (Vote NO)
- 1.14% ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: