นิด้าโพล ชี้ ประชาชนเกือบ 49% มองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยยัง “เหมือนเดิม” แม้รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ ตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ขณะที่ส่วนใหญ่ “ค่อนข้างกังวล” สถานการณ์การแพร่ระบาดใน 1-2 เดือนข้างหน้า
วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2564) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศเป็นอย่างไร ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ 97.0%
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า
- ตัวอย่าง 48.71% เป็นเพศชาย 51.21% เป็นเพศหญิง และ 0.08% เป็นเพศทางเลือก
- ตัวอย่าง 95.84% นับถือศาสนาพุทธ, 3.18% นับถือศาสนาอิสลาม, 0.68% นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และ 0.30% ไม่ระบุศาสนา
- ตัวอย่าง 6.21% อายุ 18-25 ปี, 14.02% อายุ 26-35 ปี, 21.36% อายุ 36-45 ปี, 34.85% อายุ 46-59 ปี และ 23.56% อายุ 60 ปีขึ้นไป
- ตัวอย่าง 21.89% สถานภาพโสด, 74.70% สมรสแล้ว, 3.11% หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และ 0.30% ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
- ตัวอย่าง 8.71% มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ, 25.99% มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง, 18.33% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ, 33.41% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 13.56% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้
- ตัวอย่าง 30.76% จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า, 34.24% จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า, 6.59% จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า, 23.03% จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า, 5.00% จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ 0.38% ไม่ระบุการศึกษา
- ตัวอย่าง 8.26% ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ, 13.64% ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน, 22.65% ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ, 16.82% ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง, 15.07% ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน, 20.30% เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน, 2.73% เป็นนักเรียน/นักศึกษา และ 0.53% ไม่ระบุอาชีพ
- ตัวอย่าง 20.00% ไม่มีรายได้, 26.14% รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท, 24.92% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท, 9.09% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท, 4.55% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท, 6.44% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และ 8.86% ไม่ระบุรายได้
ข่าวน่าสนใจ:
โพลชี้ ปชช. ตอนนี้ยัง “ค่อนข้างพอใจ” มาตรการกันโควิด-19 แต่ “ค่อนข้างกังวล” สถานการณ์การแพร่ระบาดใน 1-2 เดือนข้างหน้า
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ 48.11% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม, รองลงมา 29.85% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีขึ้น, 9.62% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ลง, 8.94% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงมาก และ 3.48% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก
สำหรับความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ 42.88% ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ, รองลงมา 29.09% ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ, 17.04% ระบุว่า ไม่พอใจเลย, 8.64% ระบุว่า พอใจมาก และ 2.35% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะรุนแรงขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า
- ส่วนใหญ่ 43.11% ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ มาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศยังคงสูง และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
- รองลงมา 32.50% ระบุว่า กังวลมาก เพราะ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
- 15.23% ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี และได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้
- 8.86% ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ รัฐบาลมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว และ 0.30% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญของประชาชนระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ (เช่น ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19) พบว่า
- ส่วนใหญ่ 58.94% ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก
- รองลงมา 27.58% ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ
- 13.48% ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร
เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งนี้กับเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และอะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: