กรุงเทพฯ – สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการของ “ทรู” กับ “ดีแทค” ชี้การดำเนินการครั้งนี้กระทบ “ผู้บริโภค” เรียกร้อง กสทช. ทำหน้าที่ “กำกับดูแล” เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน
จากการที่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (ซึ่งกลุ่มเทเลนอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) ประกาศควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช (ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) และจะร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ขึ้นใหม่นั้น
ล่าสุดวันนี้ (23 พฤศจิกายน 2564) พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ถึงแม้ในปัจจุบัน การควบรวมจะเกิดขึ้นในระดับผู้ถือหุ้น คือระหว่าง “เทเลนอร์” และ “ซีพี” โดยยังไม่ได้มีการควบรวม ในระดับบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม คือระหว่าง “ดีแทค” กับ “ทรู” แต่ก็ย่อมจะไม่มีการแข่งขันของบริษัททั้งสอง เพราะอยู่ภายใต้บริษัทแม่เดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง หรือหากมีการควบรวมกันในระดับบริษัท การควบรวมรอบนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลงอย่างชัดเจนแล้ว และจะส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ผกร.ป่วนไม่เลิก!วางบึ้ม 5 (แตก 4, กู้ 1) ทางไปสนามบิน
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
ทางด้านของ บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. ตั้งข้อสังเกตว่า หากข้อตกลงระหว่าง เทเลนอร์ กับ ซีพี ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 จึงอยากสอบถามไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่ากรณีดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมีส่วนแบ่งเกินครึ่งหนึ่งของตลาด
ขณะที่ ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักในประเทศไทย แข่งขันกันทั้งในด้านการพัฒนาบริการใหม่ ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา แต่หากมีการควบรวม แม้จะเป็นในระดับผู้ถือหุ้น อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป นั่นหมายความว่า จากที่เคยมี 3 เจ้าจะเหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น ซึ่งการควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่อาจถูกเปิดเผยมากขึ้นอีกด้วย
ส่วน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวย้ำว่า สอบ. ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบและถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ สอบ. มองว่า จำนวนผู้ให้บริการ หรือค่ายมือถือ ไม่ควรลดน้อยลงจากเดิมที่มีรายใหญ่ 3 ราย ดังนั้น กสทช. ควรมีมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่
“จุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภคชัดเจนว่า เราไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ เพราะเราถือว่าการควบรวมในครั้งนี้จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เขาอาจจะแบ่งตลาดกันเล่น สุดท้ายไม่มีการแข่งขันกัน ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการแข่งขัน ก็ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน” สารี อ๋องสมหวัง กล่าว
ทั้งนี้ สอบ. ระบุว่า การดำเนินการของ สอบ. ในขั้นต่อไป คือ การจัดเวทีและทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) รวมไปถึงพรรคการเมือง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาแนวทางการควบรวมกิจการดังกล่าวต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: