ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของ 5 ส.ส. อดีตแกนนำ กปปส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องได้ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี 5 อดีตแกนนำ กปปส. ได้แก่ นายชุมพล จุลใส ผู้ถูกร้องที่ 1, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ถูกร้องที่ 2, นายอิสสระ สมชัย ผู้ถูกร้องที่ 3, นายถาวร เสนเนียม ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ถูกร้องที่ 5 เนื่องจากศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ 317/2564 ลงโทษจำคุกผู้ถูกร้องทั้งห้า และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 มีกำหนดห้าปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โดยศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาและขังผู้ถูกร้องทั้งห้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งห้าหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องเฉพาะในส่วนที่ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้งห้าสิ้นสุดลงไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งห้าหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ผู้ถูกร้องทั้งห้ายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวรวมไว้ในสำนวน และเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้งห้าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด
วันนี้ (8 ธันวาคม 2564) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 ต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
ข่าวน่าสนใจ:
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องทั้งห้าต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้งห้าจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งห้าหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 4 สิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงและต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564
เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 3 สิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564
สำหรับกรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 5 ว่างลงนับแต่เมื่อใดนั้นเห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 5 มีหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง ต่อมามีประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ในวันดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ทำให้ นายชุมพล จุลใส กลายเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ส่วนนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงกลายเป็นอดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, นายอิสสระ สมชัย จึงกลายเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายถาวร เสนเนียม จึงกลายเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงกลายเป็นอดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต. จ่อจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร, เขต 6 สงขลา หลังสถานะ ส.ส.กปปส.สิ้นสุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: