วันที่ 14 ธันวาคม 2564 เวลา 21.00 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศยุติการชุมนุม หลังมติคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกัน ระบุแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 24 รับข้อเสนอของทางเครือข่าย ให้ตั้งคณะสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้นำจัดการศึกษาผลกระทบ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงให้ชะลอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการชั่วคราวจนกว่าการทำ SEA จะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี
ข่าวน่าสนใจ:
- “ลาบูม”หญิงเก่งชูนโยบายสู้ศึกชิงนายกเล็กเมืองสตูล
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- ลำปางเปิดสมัครรับเลือกตั้ง อบจ.ลำปางคึกคัก “ตวงรัตน์” อดีตนายกฯ ได้เบอร์ 2 “ดาชัย” โผล่ท้าชิงเก้าอี้อีกสมัยได้เบอร์ 1 อีกสองคนได้ 3 -เบอร์ 4
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
โดยการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นใช้เวลากว่า 17 วัน นับตั้งแต่นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ประกาศปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเรียกร้องสัญญาที่รัฐบาลเคยทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อปีที่แล้ว ที่ขอให้ยุติโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงผังเมืองทั้งหมด พร้อมให้ทำการศึกษา SEA ใหม่ จนมีชาวบ้านร่วมสมทบและเกิดเหตุสลายชุมนุมในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 นำพาไปสู่การรวมตัวเพื่อกดดันอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มาสมทบกันตั้งแต่วันนั้น
นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงสลายการชุมนุม โดยตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการที่ตำรวจนำพาชาวบ้านไปไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) สโมสรตำรวจ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ถูกจับกุม มีนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ที่มาให้กำลังใจชาวบ้านด้วย รวมไปถึงการยื่นเงื่อนไขห้ามกลับมารวมตัวชุมนุมอีก ยังไม่รวมไปถึงการพยายามกีดกันสื่อมวลชนไม่ให้เก็บภาพข่าวไปนำเสนอได้ ดังนั้นชาวบ้านและเครือข่ายจึงตัดสินใจรวมตัวชุมนุมกดดันกันต่อ โดยหวังไว้ว่าสิ่งที่ทำจะไม่สูญเปล่า เพราะหากยอมกลับไป ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ไม่เชื่องต่อผู้มีอำนาจรัฐ จึงทำให้ได้รับผลลัพธ์เป็นคดีความดังกล่าว
นายสมบูรณ์ ยังตอบโต้ความเห็นของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่กล่าวหากลุ่มชาวบ้านว่าเป็นอันธพาล ไม่เคารพสิทธิในการถือครองที่ดินของบริษัท ยืนยันว่าข้อเสนอที่เครือข่ายได้ยื่นต่อรัฐบาลตั้งแต่ปีที่แล้วอยู่บนหลักการความเป็นจริง ไม่มีการริดรอนสิทธิผู้ใดตามที่ถูกกล่าวหา
นางสาวไครียะห์ กล่าวปิดท้ายถึงสำหรับรวมตัวของชาวบ้านที่เดินทางจากจังหวัดสงขลาขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ว่า พวกเขาต้องละทิ้งครอบครัวและคนรักเพื่อเรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลเคยทำสัญญาไว้เมื่อปีที่แล้ว ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นในการปกปักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อำเภอจะนะ ยังต้องเดินหน้าผลักดันการศึกษาสำรวจผลกระทบต่อไป
นางสาวไครียะห์ กล่าวเพิ่มว่า เหตุใดรัฐบาลจึงเพิ่งจะมาตอบรับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน หากไม่มีการกดดันของหลากหลายภาคีเครือข่ายที่มาสมทบ รวมไปถึงกระแสสังคมออนไลน์ สื่อมวลชน ที่ออกมาขานรับกับการเคลื่อนไหวนี้ นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานของรัฐบาลอย่างชัดเจนผ่านบทเรียนของพี่น้องชาวจะนะ ดังนั้นรัฐบาลจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้
ส่วนที่กลุ่มสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่ให้เหตุผลว่าต้องการให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่นั้น นางสาวไครียะห์ ได้ขอให้ลองมองดูทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนนี้ว่าสามารถหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งโลกได้ ขณะเดียวกันในแวดวงอุตสาหกรรมเริ่มมีการใช้หุ่นยนต์และ AI เข้ามาลดต้นทุนการจ้างแรงงาน เกรงว่าหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จะไม่สามารถเกิดการจ้างงานแก่คนในพื้นที่ได้ตามที่กลุ่มสนับสนุนคาดหวัง
โดยวันนี้ (15 ธันวาคม 2564) เวลา 07.15 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้เดินทางกลับ โดยมีรถบัสจากสำนักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้ให้ และนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสํานักนายกฯ มาร่วมส่งชาวบ้านขึ้นรถกลับ ทำให้การจราจรบนถนนพิษณุโลกกลับมาสัญจรได้ตามปกติ
ฐณะวัฒน์ ณ รังษี ร่วมรายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: