ปภ. เตือน กทม.-ปทุมธานี-นนทบุรี-สมุทรปราการ ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำเค็มรุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา กระทบคุณภาพน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายบุดูธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ส่งโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท (กปภก) 0610/21 ถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร/ผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการ/ผู้อำนวยการจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เนื้อหาระบุว่า ด้วยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามข้อมูลระดับน้ำทำนายสูงสุด-ต่ำสุด ปี 2565 ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2565
โดยฐานข้อมูลน้ำขึ้นสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้าจะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ในช่วงวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2565, วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 และวันที่ 16-18 มีนาคม 2565 ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ช่วงดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุน คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่เจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ส่งผลกระทบต่อบริเวณชุมชนนอกแนวคัน กั้นน้ำ รวมถึงเกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการใช้น้ำทางการเกษตรได้ โดยให้เฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2565, วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 และวันที่ 16-18 มีนาคม 2565
ขณะเดียวกันได้แนบประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ลงนามโดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อม ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำ และเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว และตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เชื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเร่งผลักดันน้ำเค็มโดยเร็ว
4. ปรับแผนการผลิตน้ำประปาเพื่อหลีกเสี่ยงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการน้ำใช้อุปโภคบริโภค และรวมทั้งการใช้น้ำ เพื่อการเกษตรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: