“เลขา ครป.” ขอบคุณ ‘รังสิมันต์’ ที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจถึงปัญหาแก๊งค้ามนุษย์ จี้ “4 นายพล” ตอบคำถามเรื่องคดี เรียกร้อง “ประวิตร-จักรทิพย์” รับผิดชอบโยกย้ายไม่เป็นธรรมด้วย ชี้ปัญหาเกิดจากช่องโหว่ของนโยบายด้านความมั่นคงและงบลับทางการทหาร และ “ประยุทธ์” ไฟเขียวรู้เห็นเป็นใจ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ว่า ต้องขอขอบคุณ รังสิมันต์ โรม ได้ทำให้สังคมไทยเข้าใจปัญหานี้ทางโครงสร้างอย่างชัดเจนขึ้นในระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ของชนชั้นนำไทย ขณะที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 คือตำรวจน้ำดีที่สุดคนหนึ่งในวงการตำรวจไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรจะรักษาไว้และให้รางวัลเชิดชู ไม่ใช่ขับไสไล่ส่งออกไปจากองค์กรจนกระทั่งต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะแพ้ภัยอำนาจอิทธิพลที่กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐในรูปของพี่น้องโรงเรียนเตรียมทหาร และนายร้อย จปร. ที่กลายเป็นระบบอุปถัมภ์นิยม ทั้งในหน่วยงานราชการ อำนาจเถื่อนและเศรษกิจสีเทา โครงสร้างสังคมไทยลักษณะนี้จึงอนุญาตให้แก๊งมาเฟีย เจ้าพ่อค้ายา ผู้มีอิทธิพลเถื่อน เข้าสู่ระบบ และมีหน้ามีตาในสังคมการเมืองไทย กระทั่งนั่งอยู่ในรัฐสภา
การที่ พล.ต.ต. ปวีณ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทั้งที่เป็นตัวหลักในการทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา จนสามารถจับกุมนายทหารระดับนายพล ตำรวจยศใหญ่ กระทั่งนักการเมืองท้องถิ่นได้หลายคนนั้น ผมคิดว่ามีคนที่จะต้องรับผิดชอบและตอบคำถามในเรื่องนี้หลายคน ไม่ใช่แค่ตอบคำถามประชาชนไทย แต่ตอบคำถามประชาคมโลกด้วย
คนที่ 1 คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2ม558 และมีคำสั่งย้าย พล.ต.ต. ปวีณ ไปรักษาราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประวิตร ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามว่า กลั่นแกล้งสั่งย้ายทำไม หรือตั้งใจส่งเขาไปตายหรือไม่ เพราะชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษ เต็มไปด้วยอำนาจมืดและขบวนการที่เกี่ยวข้องในเส้นทางค้ามนุษย์ริมชายแดน ทำไมไม่ให้เขาทำงานคดีต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ต่อไป หรือมอบอำนาจเลื่อนตำแหน่งให้
คนที่ 2 คือ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่เพิ่งได้เป็น ผบ.ตร. คนใหม่ในขณะนั้น ที่อ้างว่าได้รับคำแนะนำจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 16 ของ พล.ท. มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ว่าให้ย้ายไปชายแดนใต้เนื่องจาก พล.ต.ต.ปวีณ เชี่ยวชาญกฎหมายความมั่นคง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า การสั่งย้ายทั้งๆ ที่มีคดีค้างอยู่และมีผลงานเป็นที่ปรากฎถือเป็นการกลั่นแกล้งและปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ และได้สอบถามความสมัครใจเจ้าตัวในการสั่งย้ายนี้ด้วยหรือเปล่า
นอกจากนี้ หลังจากคดีนี้พัวพันกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายและ พล.ต.ต. ปวีณ หัวหน้าชุดทำคดี ได้ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายการเมือง จนตัดสินใจทำหนังสือลาออกเมื่อ 5 พ.ย.58 และขอลี้ภัยภายหลังขอให้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ทบทวนคำสั่งไม่สำเร็จนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงได้เห็นปัญหาจึงพยายามขอให้ พล.ต.ต. ปวีณ ยับยั้งใบลาออกและให้โอนย้ายไปทำงานในสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ (สนง.นรป. 904) แทน หรือย้ายไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อดูคดีค้ามนุษย์ต่อ เพื่อให้ตำรวจน้ำดีได้ทำงานช่วยบ้านเมืองต่อไป แต่ขณะไปถอนใบลาออกในอีกวันต่อมา พล.ต.อ. จักรทิพย์ ผบ.ตร. กลับบอก พล.ต.ต. ปวีณ ให้ลาออกไปอยู่เงียบ ๆ แทน โดยต่อสายให้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เสนอทางเลือกนี้ ได้ยืนยันกับ พล.ต.ต. ปวีณ โดยตรง
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ พล.ต.ต. ปวีณ อาจกลัวว่าการปฏิเสธเข้าสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ อาจเป็นภัยคุกคามจากการปฏิเสธก็ได้ จึงขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย เพราะอยู่ใน สตช.ก็ไม่ได้แล้ว อาจมีภัยจากการทำคดีค้ามนุษย์และอาจถูกกลั่นแกล้งคดี ม.112 ดังนั้น คนที่ 3 ที่ต้องตอบคำถามก็คือ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย นั่นเอง ว่าเขารับงานใครมาหรือไม่? ทำไมเสนอทางเลือกใหม่ต่างไปจากสองทางเลือกแรกและขัดกับข้อเสนอของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ต้องการให้ไปช่วยงานในตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งต่อมา พล.ต.อ. จุมพล ก็ได้กลายเป็นผู้ต้องหาคดีประพฤติชั่วร้ายแรงและบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ โดยสำนักพระราชวังลงโทษไล่ออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้ว
สำหรับข้อครหาที่ว่า พล.ท. มนัส เสียชีวิตในเรือนจำจากเหตุหัวใจวายนั้นมีการตัดตอนคดีหรือไม่ ในเรื่องนี้กรมราชทัณฑ์เคยเผยแพร่เอกสารยืนยันการเสียชีวิตของ พล.ท. มนัส ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพฯ ในวันที่ 2 มิภุนายน 2564 แล้ว หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ 1 เดือน เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และได้เสียชีวิตขณะเดินออกกำลังกายแล้ววูบหมดสติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผบ.เรือนจำ อาจต้องเผยแพร่เอกสารผลชันสูตรจากแพทย์ด้วย
และ คนที่ 4 ที่ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามสังคมไทยคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ย่อมรู้เห็นเป็นใจไม่มากก็น้อย เพราะ พล.ต.ต. ปวีณ กำลังทำคดีสำคัญเพื่อกู้หน้าประเทศไทย สร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่ประชาคมโลก หลังจากที่ถูกกดดันจากผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย นอกจากนั้น พล.ต.ต. ปวีณ เคยทำเรื่องขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ ช่วยทบทวนคำสั่งด้วย แต่ก็ไม่มีการตอบรับ พล.อ. ประยุทธ์ น่าจะรู้เห็นเป็นใจและไฟเขียวด้วย
ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลายเป็นกลุ่มที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติไปโดยปริยาย จึงอาจทำให้รูปแบบองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อาจถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศไทยได้เช่นกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ
เบื้องหลังของขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาล้วนเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะทำกันอย่างเป็นระบบ มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ระหว่างทางมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน จากการที่มีการเปิดเผยค้นพบแคมป์พักชั่วคราวของขบวนการค้ามนุษย์บนเทือกเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา อ.รัตภูมิ หลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลาในปี 2558 ซึ่งถูกสร้างขึ้นในลักษณะเกือบถาวรและรอบบริเวณยังพบหลุมฝังศพมากมายหลายสิบหลุมจนโลกต้องตะลึง นอกจากนี้ยังพบที่ จ.พังงา จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ด้วยโดยมีทั้งชาวโรฮิงญา พม่า ไทย และมาเลเซีย เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้
ขบวนการต้นทางมีคนที่ถูกเรียกว่า “มาชี” สามารถพูดได้ 3 ภาษา คือภาษาโรฮิงญา ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ เป็นผู้คุมดูแลระหว่างการเดินทางและในค่ายพัก โดยมีเครือข่ายมาชีทั้งหมดประมาณ 300 คนในขณะนั้น ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และพม่า มาชีจะนำพาชาวโรฮิงญาขึ้นเรือเล็กออกจากพม่าและชายแดนบังกลาเทศ มาขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล และขึ้นฝั่งในหลายจังหวัดของไทย ไม่ว่าจะเป็น จ.ระนอง จ.พังงา ตามแนวอันดามัน เพื่อขึ้นรถเดินทางต่อไปยังแคมป์กักขังใกล้ชาย แดนไทย-มาเลเซีย ที่ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ระหว่างทางจึงต้องมีการเข้าหาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเปิดทาง โดยเฉพาะตำรวจท้องที่ หรือตำรวจทางหลวงต่างๆ ทำให้นายหน้าโรฮิงญามักจะรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยหลายคนเป็นอย่างดี
จากการที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จับกุมรถขนส่งชาวโรฮิงญาได้กว่า 101 คน ซึ่งเสียชีวิตลงจากสภาพการเดินทางแออัดภายในรถ 3 คน มีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงผู้ต้องหาทั้งในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.สงขลา จากการจับกุมในครั้งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลเชื่อมโยงไปยังนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์อีกหลายคน รวมถึงบางคนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และถูกฆ่าตาย นำไปสู่การพบศพอีกจำนวนมากมายในค่ายพักชั่วคราวบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่่งเป็นจุดชำระเงินค่าไถ่หรือค่าหัวแรงงานนั่นเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบางส่วนใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากนโยบายด้านความมั่นคงและงบลับทางการทหาร เพื่อหารายได้จากธุรกิจสีเทาจนสร้างเป็นโครงข่ายที่ใหญ่โต โดยหลังจากปี 2556 เป็นต้นมาที่มีการจับกุมชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ซึ่่งก่อนหน้านั้นพวกเขาจะเป็นผู้นำพาผู้อพยพด้วยกันเองและมีคนในพื้นที่คอยให้การช่วยเหลือ แต่ต่อมามีคนไทยตั้งตัวเป็นนายหน้าเรียกค่าไถ่รับผลประโยชน์แทน ทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเกิดค่ายกักขังบนภูเขาขึ้น
ในช่วงนั้น หน่วยงานทางปกครองของไทยบางหน่วยจึงใช้วิธีจัดงบประมาณ ดำเนินการในทางลับเพื่อขนชาวโรฮิงญาออกจากราชอาณาจักร เพื่อแก้ปัญหาการพักพิงในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อถูกจับกุมในฐานะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากพม่าและบังกลาเทศไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมือง จากนโยบายความมั่นคงและการใช้งบลับดังกล่าว กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน จับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง รวมทั้งตำรวจ ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการวางโครงข่ายขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาส่งให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ ดังคดีที่มีการจับกุม พล.ท. มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่เกี่ยวข้อง และสั่งย้ายข้าราชการตำรวจหลายคนที่ได้รับส่วย
นอกจากนี้ ริมชายแดนเทือกเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ควบคุมชาวโรฮิงญาจำนวนมากเพื่อการค้ามนุษย์ เรียกค่าไถ่ และส่งตัวไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยังเคยเป็นที่ควบคุมผู้อพยพชาวอุยกูร์อีกด้วยเช่นกัน ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านั้นทางการไทยเคยจับกุมผู้อพยพชาวอุยกูร์ได้กว่า 280 คน ซึ่งต่อมามีการพิสูจน์สัญชาติจนมีการส่งตัวไปยังตุรกี 171 คน ส่วนอีก 109 คน ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนเพื่อดำเนินคดีตามคำร้องขอ ซึ่งต่อมาได้เกิด “วินาศกรรมราชประสงค์” ขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: