โพลจาก ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชี้ ประชาชน 32.2% คิดว่ายังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่คะแนนแคนดิเดตแต่ละคนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนสเปกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่อยากได้ คือ “มีความซื่อสัตย์โปร่งใส”
วันนี้ (13 มีนาคม 2565) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5-9 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คน ต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเป็นเสียงสะท้อนของคนกรุงเทพมหานครในด้านปัญหาต่าง ๆ โดยผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร
3. แต่งตั้งและถอดถอน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ
4. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
5. วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
6. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และกฎหมายอื่นๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- นนทบุรี กระบะเลี้ยวตัดหน้า จยย.พุ่งชน ร่างหนุ่มชาวลาวลอยก่อนตกกระแทกพื้นดับ
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- วันแรก! คึกคัก สมัครนายกอบจ.ภูเก็ต ผู้สมัครมารอก่อนเวลา กองเชียร์แห่ให้กำลังใจอย่างล้นหลาม
ในส่วนของของสภากรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจตรวจสอบติดตามการบริหารของฝ่ายบริหาร ด้วยการตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไป และโดยเฉพาะการทำหน้าที่ผ่านคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร
ซึ่งผลการสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์:
- เพศชาย 48.3% และเพศหญิง 51.7%
- อายุ ต่ำกว่า 20 ปี % 0.8%, 20 – 25 ปี 7.6%, 26 – 30 ปี % 16.5 31 – 35 ปี % 23.1, 36 – 40 ปี 23.7%, 41 – 45 ปี 16.3%, 46 – 50 ปี 9.7% และมากกว่า 50 ปี 2.2%
- อาชีพ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา 7.1%, ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 22.2%, พนักงานบริษัทเอกชน 26.2%, พ่อค้า/แม่ค้า 14.6%, แม่บ้าน/พ่อบ้าน 12% และรับจ้างทั่วไป 17.9%
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยากได้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคุณสมบัติ “มีความซื่อสัตย์โปร่งใส” มากที่สุด 26.2%, อันดับที่ 2 คือ มีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ 16.5%, อันดับที่ 3 คือมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน 16.2%, อันดับที่ 4 คือมีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม 13% และอันดับที่ 5 คือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 10.2%
ส่วนคุณสมบัติสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่อยากได้มากที่สุด คือ “มีความซื่อสัตย์โปร่งใส” มากที่สุด 29.6%, อันดับ 2 คือ มีความขยันทุ่มเทในการทำงาน 20.1%, อันดับ 3 คือ มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม 14.3%, อันดับ 4 คือ มีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ 13.9% และ อันดับ 5 คือ มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว 8.4%
ในส่วนของนโยบายที่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญ อันดับที่ 1 คือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต 27.4%, อันดับที่ 2 คือด้านศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาเมือง 15.9%, อันดับที่ 3 คือด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อม 14.7%, อันดับที่ 4 คือ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ 14% และอันดับที่ 5 คือ ด้านการจราจรและขนส่งมวลชน 12.3%
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด อันดับ 1 คือ ปัญหาการคอรัปชั่น 33.3%, อันดับ 2 คือ ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย 12.8%, อันดับ 3 คือ ปัญหาสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย 10.6%, อันดับ 4 คือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 10.1% และ อันดับ 5 คือ ปัญหาการจัดการน้ำเสีย 9.7%
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. คือ จากกลุ่มหรือพรรคการเมือง 35.2%, รองลงมา คือ ตัวผู้สมัคร 32.5% และนโยบายการพัฒนา กทม. 32.3%
คิดว่าการเลือกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ควรมาจากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียวกัน 30.9% ไม่มาจากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียวกัน 30.1% และยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไรมากที่สุด 39.0%
เมื่อถามว่าบุคคลใดเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากที่สุด ประชาชนระบุดังนี้
- อันดับ 1 คือ ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสม 32.2%
- อันดับ 2 คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 16.2%
- อันดับ 3 คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 15.1%
- อันดับ 4 คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 12.3%
- อันดับ 5 คือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล 11.9%
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: