พรรคเพื่อไทย ลงสนามเลือกตั้ง ส.ก. ส่งครบทุก 50 เขต ชูนโยบายคนกรุงเทพฯ จ่ายถูกลง ตั้งเป้า 5 นโยบายหลัก ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระจายความมั่งคั่งให้ประชาชนในเมืองหลวงของประเทศไทย
วันที่ 24 มีนาคม 2565 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เด็ก เยาวชน นักศึกษา รวมถึงแฟนคลับ ได้สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของครอบครัวจากรายได้ลดลง รายจ่ายที่มากขึ้น มองไม่เห็นหนทางในการสร้างตัวอย่างเข้มแข็งมั่นคง มีคนบอกให้ประชาชนอดทนและขยันเพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการซ้ำเติมประชาชน วาทกรรมเก่า ๆว่า ‘ขยันแล้วจะสบาย’ หรือ ‘ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า’ เป็นคำโกหก เพราะวันหน้าของประชาชนยาวนานถึง 8 ปี และแม้เข้าปีที่ 8 แล้วก็ยังมาไม่ถึง ยืนยันได้จากข้อมูลทางสถิติของ KISI (เคซี) องค์กรที่ศึกษาเรื่องความสมดุลระหว่างงานและชีวิต ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ทำงานหนักเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า 7 ปีที่ผ่านมาหนี้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว และ 60% ของคนวัยทำงานอายุ 30 ปี เป็นหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เพราะแม้คนไทยทำงานหนักจนติดอันดับโลก แต่ทรัพย์สินในประเทศกว่า 66% กลับตกไปอยู่กับคนแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ‘ยิ่งทำยิ่งจน’ แต่คนที่รวยขึ้นกลับเป็นนายทุนอย่างเดียว และ ‘ยิ่งทำยิ่งเจ็บ’ เพราะยิ่งทำงานหนักก็ยิ่งเจ็บทั้งกายทั้งใจ คนกรุงเทพฯ สู้ชีวิตมาก การเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้จึงอยากให้คนกรุงเทพฯ ชนะ พรรคเพื่อไทยมีภารกิจเดียว คือทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ทำงานหนักตลอดชีวิต จ่ายถูกลง หาเงินได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเหนื่อยไปกว่านี้
ข่าวน่าสนใจ:
จากนั้นพรรคเพื่อไทยได้ประกาศถึงภารกิจ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และกระจายความมั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ” อย่างถ้วนหน้า ผ่านการทำงานสอดประสานกับฝ่ายบริหารในกรุงเทพมหานคร เสนอแนะ ดูแล และผลักดันให้พี่น้องทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น โดยความมั่งคั่งของประชาชน ไม่ใช่ภาระของประชาชนแต่เพียงผู้เดียว แต่เกี่ยวพันถึงการสนับสนุน ดูแล จัดสรรของฝ่ายบริหาร ที่จะกระจายทรัพยากร กระจายโอกาส และแบ่งเบาภาระจากประชาชน ตนเชื่อว่าไม่มีใครอยากจน ผู้มีอำนาจมีหน้าที่ที่จะพาทุกคนออกจากความยากจน ให้มีกิน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอนาคต ความมั่งคั่งของประเทศจะต้องถูกปลดแอกจากคน 1% และแจกจ่ายให้เจ้าของประเทศทุกคนอย่างทั่วถึงกัน โดยพรรคเพื่อไทยได้เปิดตัว 5 นโยบาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จากเพื่อไทย ได้แก่
1) 30 บาท ถึงที่หมาย : ผลักดันให้กระทรวงคมนาคมบริหารจัดการรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟลอยฟ้า หน่วยงานเดียว เพื่อการบริหารค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย เสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ผู้โดยสารจะเข้ามาใช้งานมากขึ้น ทำให้ค่าตั๋วโดยสารถูกลงด้วย
2) 50 เขต 50 โรงพยาบาล : ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วเขตละ 1 แห่ง หรือสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงที่สามารถดูแลประชาชนเบื้องต้นแบบครบวงจร โดยให้ กทม. รับงบประมาณกองทุนประกันสุขภาพจำนวน 15,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการเอง
3) 437 สถานศึกษา พัฒนาสร้างรายได้ : เปิดพื้นที่โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ให้เป็นพื้นที่ของงาน เงิน และอนาคต ทั้งการศึกษาในระบบ โดยเพิ่มการเรียนภาษาที่ 2 อังกฤษและจีน เพิ่มทักษะคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่ง เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีทักษะความรู้ในโลกสมัยใหม่ รวมทั้งการศึกษานอกระบบ ต้องทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Maker space) โดย กทม.มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ จัดจ้างครู อุปกรณ์ เช่น การทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า โรงถ่ายหนัง มาสร้างสรรค์งานร่วมกัน จนเกิดเป็นสตาร์ทอัพ
4) กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท : ทุกชุมชนใน กทม.ไม่เกิน 6,000 แห่ง ชุมชนแออัด หมู่บ้าน และคอนโด ต้องได้รับงบประมาณ 200,000 บาทต่อปี ให้ แต่ละชุมชนนำเสนองบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ผ่านเขตของตนเองได้ โดยจะมีคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งภายในชุมชน มีผลงานชัดเจนจากการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมาแล้ว มาร่วมตัดสินใจใช้งบประมาณแบบมีส่วนร่วม
5) 50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์ : คนชุมชนหรือย่านนั้น จัดงานแสดงศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร แฟชัน ดนตรี โดยคนในท้องถิ่นที่จะสามารถออกแบบอีเวนต์เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเงินด้วยตนเอง กรุงเทพฯ จะไม่หลับใหล เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง สร้างงาน สร้างเงินให้กับประเทศ
สำหรับสโลแกนในการลงผู้สมัคร ส.ก.ของเพื่อไทย คือ ‘เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ’ ผ่านนโยบายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จากพรรคเพื่อไทย
โดยบางช่วงของงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ของเพื่อไทย ยังมีการจัดให้ว่าที่ผู้สมัคร แนะนำตัวพร้อมสโลแกนประจำตัวอีกด้วย เช่น ว่าที่ ผู้สมัคร ส.ก.เขต พญาไท มีสโลแกนประจำตัวว่า ‘สถานีต่อไปพญาไท ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้ที่สถานีนี้ next station เลือกกวี ณ ลำปาง” หรือ “บ้านพักคนชราต้องบางแค แต่ถ้าอยากได้คนเทคแคร์ ต้องเลือกเอกชัย” หรือ “ไม่ว่าตลิ่งจะชันหรือไม่ชัน ขอแค่ได้รับใช้ทุกท่าน นั่นคือความฝันของผม เป็นต้น
“คนกรุงเทพฯ สู้ชีวิตมาก แต่ชีวิตก็สู้กลับตลอด ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ คือ 331 บาท แต่ค่ารถไฟฟ้าไปกลับวันละเกือบ 100 บาท 8 ปีที่ผ่านมาเงินเดือนปริญญาตรี ขึ้นแค่ 25% แต่ค่าข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวพุ่งขึ้น 150% เราสู้ชีวิตมาก แต่สู้ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ ภายใต้ 5 นโยบายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. คือความตั้งใจจริงจากพรรคเพื่อไทย ที่มีต่อคนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานหนัก คนรุ่นใหม่ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตของตนในเมืองหลวงแห่งนี้” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมส่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ครบ 50 เขต ซึ่งผ่านการคัดสรรมาอย่างดี มีทั้งอดีต ส.ก. 8 คน อดีต ส.ข 7 คน เป็นผู้มีประสบการณ์ และยังมีคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานเชิงพื้นที่มาอย่างยาวนาน ภายใต้การสนับสนุนของ ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งทำงานสอดประสานกัน ยืนยันต่อพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ว่า หากเลือกเพื่อไทย ได้อนาคตของ กทม. ทั้งนี้ ส.ก. สามารถกำหนดอนาคตของ กทม.ได้ เพราะงบประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี อยู่ที่การอนุมัติของสภากรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงมีความสำคัญในการตรวจสอบควบคุม เสนอแนะ ฝ่ายบริหารของ กทม. ดังนั้น 22 พฤษภา เข้าคูหา กา ส.ก.ของเพื่อไทย
สำหรับการจัดงานดังกล่าว มาในธีม ‘Bangkok Bling กรุงเทพฯ เมืองมั่งคั่ง’ รูปแบบเหมือนเทศกาลงานดนตรี มีการจัดแสดงดนตรีสด โดยวง T_047 และ เอ้ the voice (เอ้-กุลจิรา ทองคง) ตัวแทนของนักดนตรีและอาชีพกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการธุรกิจกลางคืน ในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 และยังมีการนำบูทขายอาหารสตรีทฟู้ด ทั้งร้านไก่กรอบป้าแก้ว ลาบเสียบ หมูกรอบ ขนมครกร้านน้องกะทิ รวมถึงประชาชนเบียร์ โดยการนำอาหารไทยริมทาง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของสตรีทฟู้ด เป็นสวรรค์ของอาหารริมทาง และยังเป็น Soft power ของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้ปีละกว่า 340,000 ล้านบาทในปี 2564 (จากการคาดการณ์ของยูโรมอนิเตอร์ ผู้ให้บริการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาด และข้อมูลข่าวกรองด้านธุรกิจระดับโลก)
ภายในงานมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ก. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. คณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส.กทม. และสมาชิกพรรค เข้าร่วมงานด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: