‘ชัชชาติ’ ลงพื้นที่หาเสียงในชุมชนแออัด ย่านเขตวัฒนา-ปทุมวัน ชี้ กทม. ต้องเป็นตัวกลางสร้างการจ้างงานชุมชน เชื่อมความต้องการออฟฟิศใจกลางเมือง
วันนี้ (5 เมษายน 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงในชุมชนย่านเพลินจิต ศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง สำรวจที่อยู่อาศัยของแรงงานผู้ขับเคลื่อนเมือง เสนอ กทม. ดูแลสวัสดิภาพประชาชนในชุมชนแออัด พร้อมเป็นตัวกลางกระตุ้นการจ้างงานชุมชนในภาวะเศรษฐกิจซบเซา
โดยชุมชนที่ ชัชชาติ ลงพื้นที่หาเสียงวันนี้ ประกอบด้วย ชุมชนมาชิม ชุมชนรื่นฤดี และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ ตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟฟ้าช่องนนทรี บริเวณซอยสุขุมวิท 1 เขตวัฒนา มีประชากรอาศัยกว่า 600 หลังคาเรือน จากนั้นเดินต่อไปยังโปโล ชุมชนพระเจน และชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน รวมมีประชากรอาศัยประมาณ 1,500 หลังคาเรือน
ชัชชาติ เปิดเผยว่า ชุมชนบางแห่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนของ กทม. ส่งผลให้ยังมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานไม่ดีเท่าที่ควร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นแรงงานในสำนักงานย่านใจกลางเมือง หรือเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากโควิด-19 ส่งผลให้บางส่วนตกงาน ขาดรายได้ ต้องหาอาชีพเสริม
จากนั้น ชัชชาติ ย้ำว่า ประชาชนในชุมชนแออัดกลางเมือง คือกำลังขับเคลื่อนเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีทักษะที่หลากหลาย เช่น ทำอาหาร เย็บผ้า งานช่าง ฯลฯ จึงเสนอให้ กทม. เป็นตัวกลางสร้างการจ้างงานชุมชน เชื่อมความต้องการของออฟฟิศใจกลางเมือง ตลอดจนดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัด ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
“กทม. ช่วยสร้างโอกาสให้พวกเขาได้ไหม อย่างเดินเข้าไปในชุมชน มีคนสูงอายุมากมายที่มีจักรเย็บผ้าในบ้าน แต่ไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ เป็นไปได้ไหมที่ กทม. จะเชื่อมความต้องการจากคนในออฟฟิศกับคนเย็บผ้าเก่งๆ ในชุมชนใกล้ตัว พวกเขาอาจเอาเสื้อผ้ามาซ่อมโดยที่ กทม. เป็นตัวกลางเชื่อมความต้องการกับความสามารถในชุมชน ถ้าชุมชนมีช่างน้ำ-ช่างไฟ หรือมีคนทำอาหารได้ เป็นไปได้ไหมที่จะมีแอปพลิเคชันจ้างงาน และบริการเดลิเวอรี่ให้ถึงออฟฟิศเลย” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า กทม. มีชุมชนแออัดกว่า 2,000 ชุมชน ประชาชนอยู่อาศัยกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้มีรายได้น้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ใกล้แหล่งงาน กทม.จำเป็นต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของชุมชนให้มีคุณภาพ เช่น จดทะเบียนชุมชน จัดหาบ้านมั่นคงและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน ศูนย์ดูแลคนสูงอายุ ศูนย์ฝึกอาชีพ ตลอดจนจัดหาพื้นที่สาธารณะคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: