ชาวบ้านแฉการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุก “บิ๊กอุย” กลายเป็น “บิ๊กจิ๋ว” ระบุได้ปลาตัวเล็กราคาแพงกว่าท้องตลาดแล้วแถมยังได้หัวอาหารผลิตนาน 3 ปีหมดอายุ ร้องให้หน่วยสตง.-ปปท.และกอ.รมน.ตรวจสอบ พร้อมเตรียมร้องนายกตู่
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเสนอซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพ ราคาแพงและราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้ สตง.กาฬสินธุ ปปท.และกอ.รมน.กาฬสินธุ์สั่งการให้อำเภอยางตลาดตรวจสอบ นอกจากนี้ชาวบ้านยังเรียกร้องให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.นาคู เขาวง และ อ.สมเด็จ หลังจากพบการซื้อขายพันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ยแพงและมีขนาดเล็ก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ชาวบ้านใน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสตง.กาฬสินธุ ปปท.และกอ.รมน.กาฬสินธุ์เข้าตรวจสอบการดำเนินการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากพบการซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาด 5-7 ซม.ซึ่งมีเล็กไม่เหมาะสมกับราคาตัวละ 2 บาท นอกจากนี้ยังมีการซื้อหัวอาหาร และปุ๋ยราคาแพงกว่าท้องตลาด
นายอภิสิทธิ์ แสนคนุง อายุ 41 ปี ชาวบ้านนาคู ม.9 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมและเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปลาดุกชุมชนนาคู 1 กล่าว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดนั้นพบความผิดปกติในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เกษตรนำพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยมาให้ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ภาษาชาวบ้านเรียกปลาลูกคอก ซึ่งเป็นปลาตัวเล็กเอาไว้หมก เพราะมีขนาดตัวประมาณ 3-4 ซม. ใหญ่สุดไม่เกิน 5 ซม.ซึ่งชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมได้คนละ 1,070 ตัว และหัวอาหารคนละ 2-3 กระสอบ ทำให้ทางกลุ่มเลี้ยงปลาชุมชนนาคู 1 ไม่ยอมรับ เพราะปลามีขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคาตัวละ 2 บาท จนชาวบ้านเรียกชื่อจากพันธุ์ปลาดุก “บิ๊กอุย” เป็นพันธุ์ “บิ๊กจิ๋ว”ส่วนหัวอาหารก็มีราคาแพงกว่าท้องตลาด และที่สำคัญชาวบ้านหลายรายได้รับหัวอาหารที่ผลิตมาตั้งแต่ต้นปี 2557 ซึ่งผลิตมาได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหัวอาหารจะไม่มีคุณภาพ และอาจจะหมดอายุ เพราะปกติคนที่เลี้ยงปลาจะทราบดีว่าอายุการใช้งานของหัวอาหารปลานั้นส่วนใหญ่จะใช้กันเพียงไม่เกิน 6 เดือน หรือนานสูงสุดไม่เกิน 1 ปี แต่นี่ผลิตมาแล้วถึง 3 ปี จึงเกรงว่าจะไม่มีคุณภาพและอาจจะหมดอายุดังนั้นทางกลุ่มฯจึงขอซื้อพันธุ์ปลาและหัวอาหารเอง เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มนั้นมีความรู้และทำการเกษตรพอเพียง ตามรอยพ่อหลวง ปลูกผักทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปลาอยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังมีการประชุมร่วมกันทางกลุ่มก็ได้ไปซื้อพันธุ์ปลาดุกจากเครือข่ายที่เคยซื้อพันธุ์ปลามาเลี้ยงเกษตรพอเพียง ซึ่งได้พันธุ์ปลาดุกขนาด 5-7 ซม.ในราคาตัว 1 บาท ทำให้ชาวบ้านในกลุ่มได้ปลาคนละ 1,325 ตัว และได้หัวอาหารปลาดุกที่มีคุณภาพและมียี่ห้อซีพีคนละ 6 กระสอบอีกด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการซื้อขายปลาดุกที่เจ้าหน้าที่เกษตรนำมาให้นั้นห่างกันชัดเจน ดังนั้นตนและสมาชิกกลุ่มฯในฐานะผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใส่ใจเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ฟื้นฟูกลุ่มนายทุนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง.กาฬสินธุ ปปท.สำนักงานเกษตรและกอ.รมน.กาฬสินธุ์เร่งเข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.นาคู และพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ เพราะเท่าที่ทราบจากเครือข่ายเกษตรพอเพียงในพื้นที่ 5 อำเภอนี้ก็ประสบปัญหาลักษณ์เดียวกันนี้คือพันธุ์ปลาขนาดเล็ก แต่ราคาตัวละ 2 บาท ส่วนหัวอาหาร และปุ๋ยที่นำมาปลูกพืชระยะสั้นก็มีราคาแพงสูงกว่าท้องตลาดอย่างมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนและเครือข่ายจะนำเรื่องเข้าร้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรมและให้ตรวจสอบกับศูนย์ดำรงธรรมและพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางตรวจราชการในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์วันที่13ธันวาคมนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: