X

ดีเอสไอนำร่องกาฬสินธุ์เขตปลอดแชร์ลูกโซ่

ดีเอสไอจับมือจังหวัดกาฬสินธุ์ ประกาศนำร่องกาฬสินธุ์เขตปลอดแชร์ลูกโซ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายในระยะเวลา 4 เดือน พร้อมลงนามบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่ห้องประชุมผาเสวย ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายเธียรชัย อัจฉริยพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ปฏิบัติราชการแทนนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์จะเป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนากลไก เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำความผิดที่มีลักษณะอาชญากรรมพิเศษแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะดำเนินการให้จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ระยะเวลา 4 เดือน โดยที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยใช้กลไกลคณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบและคณะอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการจัดเวทีหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน และสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ควรได้รับในการลงทุนปกติ โดยมีภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง

พันตำรวจเอก ไพสิฐ กล่าวต่อว่า สำหรับ แชร์ลูกโซ่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีรูปแบบการหลอกลวงให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิก เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่เน้นการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ แต่จะอ้างว่ามีผลตอบแทนสูง โดยใช้วิธีนำเงินของผู้สมัครรายหลังไปจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่สมัครรายแรก ๆ และจะหยุดการจ่ายค่าตอบแทนในเวลาต่อมา แล้วปิดกิจการ พร้อมนำเงินที่ได้จากสมาชิกหนีไป ทำให้เกิดความเสียหายลุกลามใหญ่โตในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และหากเป็นเรื่องที่มีความเสียหายในวงกว้าง หรือกระทำผิดซับซ้อนก็จะเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

พันตำรวจเอก ไพสิฐ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการป้องกันและปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโซ่ คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนให้มีความรู้เท่าทันภัยดังกล่าว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พัฒนาแอพพลิเคชัน “แชร์ลูกโซ่” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของธุรกิจ ที่ตนเองจะไปลงทุนว่ามีสภาพเสี่ยงจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของตนเอง และตอบคำถามตามแนวคำถามก็จะได้ผลลัพธ์ คือ ระดับความเสี่ยงในการเป็นแชร์ลูกโซ่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน