จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทางราชการประกาศปิดตลาด ปิดร้านค้าร้านอาหาร และหลายจังหวัดปิดเมือง เพื่อป้องกันและยับยั้งการกระจายเชื้อ ส่งผลกระทบต่อหลายอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่ตั้งเป้าส่งขายออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประสบวิกฤตยกเลิกออเดอร์ขายไม่ออก และเริ่มน็อคตายเนื่องจากเกิดความแออัด และสภาพอากาศวิปริต ต้องเร่งขายออกโดยลดราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท แม่ค้าระบุประสบวิกฤตหนักสุดในรอบ 30 ปี รายได้หายหลายสิบล้านบาท
วันที่ 14 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าประชาชนในพื้นที่และที่เดินทางจากกรุงเทพฯ เขตปริมณฑลและต่างจังหวัด ให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ และมีการปรับตัว เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ แต่ยังพบว่าในส่วนผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในเขต อ.ยางตลาดนั้น กำลังประสบกับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากประสบปัญหาในเวลาเดียวกันถึง 4 ด้าน คือระมัดระวังตัวจากการติดเชื้อโควิด-19, กุ้งไม่สามารถจับส่งขายลูกค้าได้, จะไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่ายในบ่อเลี้ยงกุ้งเหตุเขื่อนลำปาวปิดน้ำปลายเดือน เม.ย.เป็นต้นไป และสภาพอากาศที่วิปริตทั้งร้อนและมีฝนตก ซึ่งจะทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทันและเกิดการน็อคตาย จึงหาทางออกโดยจับกุ้งจากบ่อขึ้นมาจำหน่ายที่หน้าบ้านเพราะไม่มีตลาดส่ง โดยลดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 150-200 บาทจากปกติกิโลกรัมละ 250-300 บาท
นางประกอบ ภูศรีดาว ชาวนากุ้ง หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ จะขายดีที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ แต่ช่วงนี้ถือเป็นช่วงวิกฤติในรอบ 30 ปีสำหรับชาวนากุ้งที่ประสบปัญหารุมเร้าหลายด้าน เนื่องจากเคยตั้งเป้าจะจับกุ้งจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะช่วงนี้จะขายดีมากๆ ถือเป็นช่วงทำเงินของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง โดยที่ผ่านมาจะจับส่งขายลูกค้าที่เป็นร้านค้า ร้านอาหาร ภายในจังหวัดและต่างจังหวัดทั่วภาคอีสาน แต่พอเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการค้ากุ้งชะงักฉับพลัน จะเลี้ยงต่อไปก็ไม่ได้ เพราะครบอายุจะต้องจับจำหน่าย สิ้นเปลืองค่าอาหาร ประกอบกับที่ทางเขื่อนลำปาวจะปิดการส่งน้ำและอากาศวิปริต ไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย จะทำให้กุ้งน็อคตายได้ จึงจำเป็นต้องจับมาจำหน่ายที่หน้าบ้าน วันละ 500-700 กิโลกรัม โดยประกาศขายทางเฟซบุ๊กและกลุ่มไลน์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ชาวนากุ้งคนอื่นๆ ที่ไม่มีช่องทางขาย มาวางขายได้ เพราะบ้านของตนเหมาะที่จะนำกุ้งมาวางขาย เนื่องจากเป็นย่านชุมชน
ด้านนางเครือวรรณ ภูศรีดาว ชาวนากุ้ง หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวตนเป็นผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งและจำหน่ายกุ้งรายใหญ่ ทุกปีที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เคยขนส่งกุ้งก้ามกรามให้กับลูกค้าภายในจังหวัดแต่ต่างจังหวัดไม่น้อยกว่าวันละ 2 ตัน แต่ปีนี้ประสบปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ทางราชการประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และหลายจังหวัดปิดเมือง จึงหาทางออกด้วยการจับกุ้งมาขายหน้าบ้าน โดยเป็นกุ้งสด ทั้งนี้ เคยประกาศขายยกบ่อกิโลกรัมละ 150 บาทแต่ก็ยังไม่มีใครมาติดต่อซื้อ ขณะที่นำมาขายกิโลกรัมละ 200 บาท คัดไซส์กิโลกรัมละ 240 บาท ในช่วงนี้เราจะใจเย็นรออะไรไม่ได้เลย แม้แต่รัฐบาลคงจะยื่นมือมาช่วยชาวนากุ้งไม่ทัน เนื่องจากต้องแก้ปัญหาหลายๆอย่างทั่วประเทศ ซึ่งชาวนากุ้งเราต้องพึ่งตนเองก่อนที่จะสายเกินไป และจำเป็นต้องตัดใจจับกุ้งมาขายลดราคา ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ยอม ดีกว่าจะปล่อยให้น็อคตาย โชคดีที่ลูกค้าขาประจำ และขาจร ใกล้ไกล ภายในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมารับซื้อถึงที่นี่ ดีกว่าจะปล่อยให้น็อคตาย เพราะกุ้งแออัด เขื่อนปิดน้ำ อากาศวิปริต เพราะตอนนี้เราหมดที่พึ่งแล้ว และทำให้สูญเสียรายได้จากธุรกิจจำหน่ายกุ้งในภาพรวมหลายสิบล้านบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: