คณะกรรการตรวจสอบโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์เดินหน้าตรวจสอบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของตำบลบาน พร้อมเรียกตรวจเอกสารทุกตำบล หลังพบประธานและคณะกรรมการจัดซื้อเองในราคาสูง ขณะที่ ปปท.เขต 4 เล็งรื้อตรวจใหม่ ระบุการซื้อต้องเป็นเกษตรกร เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิจัดซื้อ
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยชีวภาพแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด เพื่อให้เร่งรวบรวบเอกสารเกี่ยวกับโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.ยางตลาดทุกตำบล ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ 17 ชุมชน 12 ตำบล 42 โครงการ งบประมาณ 20,210,000 บาท โดยเฉพาะเอกสารของตำบลบัวบาน คือ ชุมชุมบัวบาน 1 และชุมชนบัวบาน 2 หลังจากเบื้องต้นพบเอกสารสัญญาซื้อขายปัจจัยการผลิตเป็นประธานและคณะกรรมการกลุ่มใหญ่เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อเองทั้งหมด ซึ่งจะต้องเข้าไปดูระเบียบว่าสาเหตุใดที่ประธานและคณะกรรมการต้องทำสัญญาซื้อเองและทำไมไม่ให้กลุ่มเกษตรที่เดือดร้อนประสบภัยเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งจะต้องดูระเบียบว่าสามารถทำได้หรือไม่เพราะเท่าที่ทราบตามระเบียบในพื้นที่อื่นนั้นคณะกรรมการกลุ่มใหญ่มีเพียงหน้าที่ให้คำแนะนำและรับโอนเงินจากสำนักงานเกษตรจังหวัดก่อนที่จะโอนต่อไปยังเกษตรกลุ่มเล็กดำเนินการ
พ.อ.มานพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางกอ.รมน.กาฬสินธุ์ ยังคงร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลงพื้นที่สืบราคาของข้าวเปลือกนาปรังและสารปรับปรุงดิน ในพื้นที่ อ.ยางตลาดและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าสอบถามข้อมูลราคาข้าวเปลือกนาปรังและสารปรับปรุงดินกับร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่ยืนยันว่าจำหน่ายให้กับร้านค้าแห่งหนึ่ง และนำไปส่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบัวบาน ซึ่งพบว่าราคาที่ทางร้านจำหน่ายให้ร้านค้าที่รับเหมาไปส่งให้กับเกษตรกรแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้จากการสุ่มราคาร้านอื่นในพื้นพบว่าราคาข้าวเปลือกนาปรังนั้นจำหน่ายกันอยู่ที่กระสอบละ380-440 บาทและสารปรับปรุงดินก็จำหน่ายอยู่ที่ราคากระสอบละ230-280 บาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องสอบอย่างละเอียดว่าสาเหตุใดที่กลุ่มตำบลบัวบานจึงต้องตั้งราคาจัดซื้อไว้สูงกว่าท้องตลาดจนผ่านการอนุมัติจากสำนักงบประมาณมากขนาดนี้ รวมทั้งราคาพันธุ์ปลาดุก กบ และหัวอาหารด้วย และที่สำคัญราคาที่ตั้งไว้สูงนั้นผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอมาได้อย่างไร รวมทั้งราคาที่ซื้อจริงจนนำของไปส่งให้กับเกษตรกรนั้นซื้อในราคาเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากพบว่าเป็นการจงใจที่จะทุจริตและเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันทีไม่มีข้อยกเว้น
นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ ปปท.เขต 4 เปิดเผยว่า หลังจากปปท.เขต4 ลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องนั้นได้ตั้งข้อสังเกตในความผิดปกติหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อขายของประธานและกรรมการกับผู้รับเหมา ที่เป็นผู้ทำสัญญาและซื้อเอง ซึ่งส่วนใหญ่และทั้งหมดเป็นผู้นำชุมชนและถูกแต่งตั้งจากทางอำเภอจึงถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เบื้องต้นนั้นขัดกับหนังสือคำสั่งของทางจังหวัดกาฬสินธุ์ที่สั่งห้ามให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างและตามระเบียบจะต้องให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการเอง อีกทั้งยังมีการตั้งราคาจัดซื้อไว้สูงอีกด้วย
โดยเรื่องดังกล่าวทางปปท.เขต4 ได้ทำหนังสือขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งรายละเอียดโครงการ ราคาการจัดซื้อ ชื่อกลุ่มและรายชื่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่กลับไม่สามารถนำมาให้ดูได้ ซึ่งมีเพียงเอกสารสัญญาซื้อขายที่มีประธานและคณะกรรมการลงนามเท่านั้นที่ส่งมาให้ดู ดังนั้น ปปท.เขต 4 จะต้องลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง โดยจะเริ่มตรวจสอบใหม่ทั้งหมดตั้งเริ่มโครงการ ซึ่งหากผลการตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายการทุจริตก็จะเสนอไปยังเลขาธิการปปท.เพื่อพิจารณาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: