X

แพงอีกพันธุ์ปลาดุก-หัวอาหารโครงการ 9101 อำเภอนาคู (มีคลิป)

พบอีกพันธุ์ปลาดุกเล็ก หัวอาหารแพง ไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ และเมล็ดพันธุ์ผักโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่เหมาะสมกับราคา ขณะที่ชาวบ้านโอดได้ปลาตัวเล็ก-หัวอาหารไม่เหมาะสมกับเงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท จี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯเร่งสอบ หลังหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่เพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริต

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยชีวภาพแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่กอ.รมน.กาฬสินธุ์ยังคงลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการที่ส่อไปในทางทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ได้สุ่มเข้าตรวจสอบการแจกจ่ายหัวอาหาร พันธุ์ปลาดุก ปุ๋ยชีวภาพ และเมล็ดพันธุ์ผักในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ หลังชาวบ้านได้นำเรื่องร้องทุกข์กับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์

พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้มีรายได้ ลดรายจ่าย และมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยในวันนี้จากการสุ่มตรวจและสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ต.นาคู ต.บ่อแก้ว และ ต.ภูแล่นช้าง พบว่า มีการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็ก ซึ่งชาวบ้านระบุว่าในวันที่ผู้รับเหมานำมาแจกในขณะนั้นเฉลี่ยขนาดตัวปลาอยู่ที่ 3-4 ซม.ราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามสเป็กที่ทางคณะกรรมการกำหนดไว้ 5-7 ซม. ส่วนหัวอาหารได้คนละ 3 กระสอบ มีการจัดส่งกันในราคากระสอบละ 580-600 บาท แต่กลับไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ ซึ่งราคาสูงกว่าท้องตลาด และชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นหัวอาหารที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งยังมีการแจกจ่ายกระชังผ้าบุ่งเขียวในราคา 1,100 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบราคาตามท้องตลาดและคำนวนแล้วพบว่าราคามีราคาสูงและไม่เหมาะสมกับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท

พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการสุ่มตรวจสอบกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชอายุสั้น ซึ่งมีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่างๆรายละ 20 ห่อ ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยขี้ไก่คนละ 10 กระสอบ และตะแกงรั้วกั้นอีกคนละ 2 ม้วน ซึ่งไม่เหมาะสมกับเงิน 5,000 บาทเช่นกัน โดยเรื่องดังกล่าวหลังจากลงพื้นที่เข้าสุ่มตรวจเสร็จแล้วจะเข้าตรวจสอบเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอำเภอนาคู เกษตรอำเภอนาคู และคณะกรรมการที่จัดซื้อปัจจัยการผลิตทั้งหมดว่าสาเหตุใดที่ต้องซื้อของแพง และหากพบการทุจริตก็จะดำเนินการทันที เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างแท้จริง

ด้านนายเสน่ห์ ภูผาศรี อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ่อแก้ว ม.12 ต.บ่อแก้ว อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทราบว่ารัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมรายละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก หากการปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ตนอยู่ในกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่อยากเลี้ยง เพราะอยากเลี้ยงปลานิลมากกว่า แต่เหมือนกับถูกบีบบังคับจึงจำใจต้องรับมาเลี้ยง ทั้งนี้การที่มีเจ้าหน้าที่นำพันธุ์ปลาดุกและหัวอาหารมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านนั้นกลับเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนมากกว่าเดิม เพราะพันธุ์ปลาดุกที่นำมาให้ชาวบ้านนั้นมีขนาดเล็กมาก ได้คนละประมาณ 300 ตัว ขนาดไม่เกิน 3-4 ซม.แต่กลับมีการซื้อในราคาที่แพงถึงตัวละ 2 บาท หัวอาหารก็ได้คนละ 3 กระสอบๆละ 580-600บาท แถมยังไม่มีวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุด้วย

อีกทั้งยังได้กระชังผ้าบุ่งเขียวราคาแพงถึง 1,1000 บาท ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วราคาไม่น่าจะถึงครึ่งหนึ่งของเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการตรวจสอบและกำชับให้หน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งสำนักงานเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และสำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์ ตลอดจนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบและให้การช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นเจ้าของโครงการแล้วกลับเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปล่อยดำเนินการแล้วกลับเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรหนักกว่าเดิม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน