จังหวัดกาฬสินธุ์เปิดตัวอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเขตอุทยานธรณี ทั้ง 7 อำเภอ ตั้งเป้าก้าวเข้าสู่ระดับประเทศ และระดับสากล
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายยศวัฒน์ เธียร์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พัฒนา พึ่งพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark โดยมีนางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ นางสาวโชติมา ยามี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร พร้อมด้วยส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
โดย จ.กาฬสินธุ์มีความพร้อมในการเป็นอุทยานธรณี และได้ประกาศเขตอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ระดับจังหวัด จำนวน 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสหัสขันธ์ คำม่วง สมเด็จ ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์ นาคู และอำเภอเขาวง สำหรับอุทยานธรณี คือพื้นที่เชื่อมโยงมรดกทางธรณีวิทยา ทางนิเวศวิทยา ทางวัฒนธรรม และผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากนั้นนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้ร่วมแถลงข่าวได้ทำการกะเทาะเปลือกไข่ไดโนเสาร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัว อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark หรือ กาฬสินธุ์จีโอพาร์ค และย้ำว่า ทางจังหวัดพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอด ร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนชุมชน ในการขยายผล อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark ไปสู่ระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีความพร้อมในทุกด้านทั้งทางด้านแหล่งบรรพชีวิต อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความงามด้านวัฒนธรรม และอีกมากมาย
ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ มีมรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าทางวิชาการทางธรณีวิทยาที่โดดเด่นที่สุดคือ ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ด้านธรณีวิทยาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบตะกอนกรวดทราย โคลน รวมถึงซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ ถูกพัดพามา และทับถมกันเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ยุคจูแรสสิค 150 ล้านปีก่อน โดยชั้นหินในจังหวัดอยู่ในหมวดหินย่อยที่อยู่ในหินโคราช และ จ.กาฬสินธุ์ยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ตลอดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็งด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: