กรมชลประทานเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)
วันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุมโรงแรมริมปาว จ.กาฬสินธุ์ นายธนภัทร ณ ระนอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) โดยมีนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายฉัตรดำรง หงษ์บุญมี หัวหน้าฝ่ายวางโครงการที่ 1 ส่วนวางโครงการที่ 2 ผู้แทนกรมชลประทาน มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต มูลนิธิน้ำเพื่ออีสาน คณะกรรมการลุ่มน้ำชี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด มีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีประชากร 22.01 ล้านคน มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตรมากกว่า 63.85 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เพราะเป็นพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เสี่ยงด้านภัยแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 40.70 ล้านไร่ มีการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งปริมาณฝนตกมากริมแม่น้ำโขง แต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้มาก ขณะที่ตอนกลางและตอนบนของลุ่มน้ำชี-มูล มีลักษณะภูมิประเทศที่มีศักยภาพเก็บน้ำได้แต่มีปริมาณฝนน้อย ส่วนต้นน้ำชีและมูลมีปัญหาฝนทิ้งช่วง มีระยะฝนทิ้งช่วงนานกว่าพื้นที่อื่น ประมาณ 20 วัน ส่งผลให้การขาดน้ำของข้าวในช่วงออกรวงอายุ 60-90 วัน ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนค่อนข้างต่ำกว่าทุกภาค และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง
นายสุรชาติกล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทาน พบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 63.85 ล้านไร่ ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรชลประทานไปแล้วเพียง 8.69 ล้านไร่ แผนงานการพัฒนาด้านแหล่งน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตจะสามารถพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานได้เพิ่มอีก 7.07 ล้านไร่ เมื่อรวมกับการปรับปรุงระบบชลประทาน การเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเดิม ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานได้อีก 0.89 ล้านไร่ รวมเป็นพื้นที่เกษตรชลประทานในอนาคตทั้งสิ้น 16.65 ล้านไร่ โดยจะเห็นได้ว่ายังเหลือพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝนอีกประมาณ 47.2 ล้านไร่ ที่ปลูกพืชได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น เมื่อหมดฤดูกาลทำนาในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะไปหางานทำในเมืองใหญ่ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เป็นเช่นนี้มานานมากแล้ว
ทั้งนี้ จากเหตุผลดังกล่าวดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องจัดหาน้ำจากภายนอกเข้ามาเพิ่ม เป็นน้ำต้นทุนพร้อมระบบส่งน้ำ และเป็นการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ในช่วงฤดูแล้งอีก 1 ฤดูกาล ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร เพื่อลดปัญหาการอพยพแรงงานเข้าไปหารายได้เพิ่มในพื้นที่เมืองใหญ่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายมากขึ้น ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าตลอดทั้งปี
นายสุรชาติ กล่าวอีกว่าสำหรับการพัฒนาโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) มีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 80,000 ไร่ จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่ศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.หนองบัวลำภู จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 540 วัน โดยมีขอบเขตการศึกษาประกอบด้วย (1) การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (2) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ (3) การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดังนั้น กรมชลประทานจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ ฯ เพื่อนำเสนอความเป็นมา แนวคิดการพัฒนาโครงการเบื้องต้น ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการฯ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาและเป็นแนวทางปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ในระหว่างวันที่ 21-22 และ 25-27 มีนาคม 2567 จำนวน 6 เวที อย่างไรก็ตามสำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการฯ คาดว่าจะสามารถมีพื้นที่เกษตรชลประทานเพิ่มขึ้น 1.73 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี มีผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการมีความมั่นคงและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในอนาคตต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: